รีเซต

จีนต้องพร้อมรับมือสหรัฐฯ หลังอาจเกิดสมรภูมิเทคโนโลยีครั้งใหม่

จีนต้องพร้อมรับมือสหรัฐฯ หลังอาจเกิดสมรภูมิเทคโนโลยีครั้งใหม่
TNN ช่อง16
24 มกราคม 2565 ( 21:24 )
157

สำนักข่าว SCMP รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ โดยระบุว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” อาจกลายเป็นสมรภูมิแห่งใหม่ของสองชาติ เนื่องจากการแข่งขันด้านเทคโนโลยีส่อแววปะทุต่อเนื่อง


---อเมริกาคานอำนาจจีน---


คำเตือนจากนักวิเคราะห์ชั้นนำของจีน มีขึ้นท่ามกลางการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และไม่นานหลังจากที่จีนเปิดเผยแผนเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของจีนภายในปี 2025


จาง โม่หนาน หัวหน้านักวิจัยสถาบันสหรัฐฯ-ยุโรป จาก China Centre for International Economic Exchanges กล่าวว่า สหรัฐฯ ได้ใช้กลยุทธ์ “small yard, high fence” หรือ “สนามเล็ก รั้วสูง” เพื่อปราบปรามจีน


จาง กล่าวในงานอภิปรายเสมือนจริง โดยระบุว่า สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะกำหนดข้อจำกัดที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ต่อเทคโนโลยีที่อ่อนไหว โดยจะเพิ่มเงื่อนไขการขึ้นบัญชีดำการส่งออกการใช้อำนาจรัฐนอกดินแดน และการตรวจสอบความปลอดภัยด้านการลงทุน


---โลกอินเทอร์เน็ตอาจไม่เหมือนเดิม---


ในงานเดียวกันนั้น จู กวงเหยา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของจีน วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ที่พยายามขัดขวางความก้าวหน้าทางดิจิทัลของจีน


เขาชี้ไปที่โครงการ Alliance for the Future of the Internet ที่นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งพยายามรวบรวมประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อส่งเสริมให้มีอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและปลอดภัย โดยระบุว่า ข้อเสนอดังกล่าว จะ “แบ่งแยกอินเทอร์เน็ต ออกเป็น 2 พรมแดน


สิ่งนี้เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลก รวมถึงตัวสหรัฐฯ เอง” จู กล่าว


ความคิดเห็นดังกล่าว มีขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากจีนเผยแพร่แผนเศรษฐกิจดิจิทัลฉบับใหม่ สำหรับปี 2021-2025 โดยแผน 5 ปีฉบับนี้ หวังผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนให้มีสัดส่วน 10% ของ GDP ภายในปี 2025 เพิ่มขึ้นจาก 7.8% ในปี 2020


---สมรภูมิแข่งขันแห่งใหม่จีน-สหรัฐฯ---


จู ยังระบุด้วยว่า “ประเทศหลัก  กำลังวางแผนเชิงกลยุทธ์ และริเริ่มสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันใหม่  เพื่อพลิกโฉมภูมิทัศน์ระหว่างประเทศในยุคดิจิทัล” หลังแรงผลักดันของจีนในการขยายภาคส่วนดิจิทัลอิสรภาพทางเทคโนโลยี และมีส่วนร่วมในการปกครองระหว่างประเทศ ได้ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่ชาติตะวันตก


ก่อนหน้านี้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ควรสร้างกฎระเบียบแห่งศตวรรษที่ 21 เกี่ยวกับการค้าและเทคโนโลยี


ขณะที่ จางระบุว่า สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เชื่อมโยงกฎระเบียบของเศรษฐกิจดิจิทัล เข้ากับอุดมการณ์สิทธิมนุษยชน และภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่แค่ “เกี่ยวกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจหรือเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเป็นการแข่งขันเพื่อกฎและอำนาจอธิปไตยอีกด้วย


นั่นทำให้ เศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นสมรภูมิต่อไปของการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ระหว่างสองชาติมหาอำนาจ


---เศรษฐกิจดิจิทัลขับเคลื่อนโลก---


การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และการสื่อสารควอนตัม ได้ผนวกกับปัญหาทางเทคนิคและทางเศรษฐกิจเข้ากับความมั่นคงของชาติอย่างแยกไม่ออก ซึ่งจีนและสหรัฐฯ จะต้องสื่อสารกันในประเด็นดังกล่าว” จู กล่าว


ทั้งนี้ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากการระบาดโควิด-19, การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ หรือ “ชิป“ ทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลและฮาร์ดแวร์สำคัญ  ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ


โดยในปีนี้ ฝ่ายบริหารของไบเดนให้คำมั่นที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพื่อให้จีนอยู่ในการควบคุมของสหรัฐฯ


เคิร์ต แคมป์เบลล์ ผู้ประสานงานทำเนียบขาวประจำภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก กล่าวว่า สหรัฐฯ จะเร่งดำเนินการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการกำหนดมาตรฐานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีด้วย


---แผนตัดกำลังแดนมังกร---


จาง กล่าวว่า สหรัฐฯ อาจเริ่มปิดกั้นการจัดส่งชิปคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์อุตสาหกรรมไปยังจีน


การตัดอุปทานเป็นอันตรายต่อจีนอย่างแท้จริง” เธอกล่าว โดยอ้างถึงการพึ่งพาการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ของจีน


จาง ยังระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่จีนจะขยายการเข้าถึงตลาดสำหรับบริการดิจิทัล รวมถึงบริษัทอินเทอร์เน็ตต่างประเทศและแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เชื่อถือได้ 


การเปิดกว้างยังคงเป็นรากฐานที่สำคัญ เพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลของจีนพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง” เธอ กล่าว

—————

แปล-เรียบเรียงพัชรี จันทร์แรม

ภาพ: Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง