รีเซต

สรุปสถานการณ์ "แม่น้ำเจ้าพระยา" 24 ต.ค. ชาวบ้านเริ่มกลับเข้าบ้านได้แล้ว

สรุปสถานการณ์ "แม่น้ำเจ้าพระยา"  24 ต.ค. ชาวบ้านเริ่มกลับเข้าบ้านได้แล้ว
TNN ช่อง16
24 ตุลาคม 2565 ( 09:21 )
56
สรุปสถานการณ์ "แม่น้ำเจ้าพระยา"  24 ต.ค. ชาวบ้านเริ่มกลับเข้าบ้านได้แล้ว

เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำต่ำกว่า 2,600 ลบ.ม. วันที่2


เมื่อเวลา 01.00 น. ที่ผ่านมา(24 ต.ค.) เขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ยังึคงปรับลดอัตราการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ลงไปอยู่ที่ 2,565 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้ว ซึ่งเป็นการระบายน้ำต่ำกว่า 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  เป็นวันที่2 ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนลดลงถึง 1 เมตร 30 เซนติเมตรในรอบสัปดาห์ และต่ำกว่าตลิ่งแล้ว 30 เซนติเมตร 

 


ประชาชนพื้นที่ท้ายเขื่อน ในอำเภอสรรพยา ที่ก่อนหน้านี้ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมสูง ต้องอพยพมานอนตามเพิงพักชั่วคราวริมถนนกว่า 2,500ครัวเรือน ขณะนี้หลายครอบครัวสามารถเดินเข้าออกบ้านได้แล้ว บางส่วนจึงเข้าไปล้างทำความสะอาดบ้าน เพื่อเตรียมกลับเข้าไปพักอาศัยตามปกติ แต่ก็ยังมีอีกหลายชุมชนที่อยู่ในที่ลุ่มต่ำ ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 50 เซนติเมตร และยังต้องรอให้น้ำลดระดับลงอีกจึงจะสามารถกลับเข้าบ้านพักได้ 



จ.อ่างทอง ยังเผชิญน้ำท่วมหนัก


ส่วนนี่เป็นสภาพพื้นที่ตำบลมหาดไทย อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นพื้นที่รับมวลน้ำต่อมาจากตำบลป่างิ้ว หลายหมู่บ้าน จึงยังคงมีน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะหมู่ 1 ที่ถูกตัดขาด กลายสภาพเป็นหมู่บ้านกลางน้ำ และคาดว่าน้ำอาจจะท่วมไปอีกประมาณ 2 เดือน จึงต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของห้องน้ำ ถุงยังชีพ  และเรือเพื่อใช้ในการเดินทาง


นายศักดิ์เตชินทร์ โตวิจิตร์  กำนันตำบลมหาดไทย บอกว่า พื้นที่หมู่1 อยู่ติดกับ อำเภอวิเศษไชยชาญ ได้รับผลกระทบมากที่สุด มี 65 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 100-200 คน เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ สภาพแวดล้อม ติดทุ่งนา น้ำจึงท่วมสูง ถนนที่เชื่อมกับหมู่ 1 และ ตำบลไผ่ดำพัฒนา อำเภอวิเศษชัยชาญ ถูกตัดขาด ต้องคอยนำอาหารแห้งและอาหารปรุงสุก นั่งเรือไปให้ชาวบ้าน เพราะมีทั้งเด็กและผู้สูงอายุที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วม 


ส่วนภาพรวมของตำบลมหาดไทย มีทั้งหมด6 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบ 416 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ชาวบ้านททำการเกษตร ทำนา ปลูกพืชไร่   เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ไม่สามารถป้องกันได้ / ตอนนี้ชาวบ้าน กังวล สถานการณ์น้ำจะกลับมาเพิ่มอีกเพราะมวลน้ำเหนือยังไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง  




วัด-โบราณสถานอยุธยา  จมน้ำนับร้อยแห่ง


ขณะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมานาน ถึง 3 เดือนแล้ว หลายพื้นที่ระดับน้ำยังทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะตามชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย นอกจากส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชนแล้ว วัด ที่มีอยู่กว่า 500 วัด ตอนนี้จมน้ำไปแล้วกว่า 200 วัด ส่วนโบราณสถาน 394 แห่ง ถูกน้ำท่วมไปแล้ว 83 แห่ง


ด้านนายภัทรพงษ์ เก่าเงิน ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่าโบราณสถานที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่อยู่นอกเมือง ในพื้นที่ลุ่มต่ำ จากการสำรวจยังไม่พบความเสียหายในเชิงโครงสร้าง หรือการพังทลาย อาจมีแค่การผุกร่อน เมื่อน้ำลดจะฟื้นฟูเยียวยาทันที





นายกฯ ลงพื้นที่น้ำท่วม จ.สิงห์บุรี วันนี้


ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันนี้(24 ต.ค.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเดินทางไปจังหวัดสิงห์บุรี เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย  โดยหลังรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ ก็จะเดินทางไปพบปะให้กำลังใจประชาชน ที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลบางกระบือ อำเภอเมือง, วัดพิกุลทอง ตำบลพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง และที่วัดจำปาทอง หมู่ที่ 5 ตำบลโพประจักษ์ อำเภอท่าช้าง  




ภาพ ผู้สื่อข่าว ภูมิภาค 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง