นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า วันนี้ (8 พ.ค.68) ภาคเหนืออากาศยังร้อนถึงร้อนจัดบางจังหวัด ฝนน้อยลงกว่าเมื่อวาน แต่ยังมีฝน/ฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือด้านตะวันตก ภาคอีสานตอนบน ภาคกลาง ภาคตะวันออกตามแนวชายฝั่ง กทม.และปริมณฑล ฝนอยู่ในเกณฑ์เล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนภาคใต้ยังมีฝนฟ้าคะนองกระจายตกต่อเนื่อง ปริมาณเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง (ฝนตกหนักน้อยลง) ฝนมาช่วงบ่ายถึงค่ำ ทิศทางลมเริ่มมีลมตะวันตก ลมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากอันดามันปกคลุมประเทศไทยมากขึ้น เป็นสัญญาณก่อนเข้าสู่ฤดูฝน (Pre-Southwest monsoon) ต้องเตรียมความพร้อม
จากนั้นคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันหยุดยาว 9 - 12 พ.ค. จะเป็นช่วงที่ประเทศไทยจะเริ่มมีฝนเพิ่มขึ้น และยังเป็นพายุฤดูร้อน โดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บ โดยจะเริ่มวันพรุ่งนี้ (9 พ.ค.) ทางด้านตะวันออกของภาคอีสานก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป เช้าถึงบ่ายอากาศยังร้อน ต้องติดตามและเฝ้าระวังเตรียมรับมือกันตลอดช่วง อากาศมีความแปรปรวนสูง จะเป็นช่วงเตรียมเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ฤดูฝน ลมใกล้ผิวพื้นเริ่มเปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มมีกำลังแรงขึ้น แต่ยังมีบางวันที่ยังมีลมใต้พัดแทรกในช่วงแรกๆ ประกอบกับช่วง 9-12 พ.ค.คาดว่าจะมีมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางแผ่ลงมาปกคลุมทางตอนบนของเวียดนาม ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้ทั่วไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักได้หลายพื้นที่ ต้องเฝ้าระวังและติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
จากนั้นในช่วง 13 - 18 พ.ค.68 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้น่าจะเริ่มพัดปกคลุมประเทศไทยและมีกำลังแรงขึ้น และมีหย่อมความกดอากาศต่ำทางด้านทะเลอันดามัน ทำให้ฝนทั่วไทยยังกระจายต่อเนื่อง ต้องเฝ้าระวังฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้
และในช่วง 19 - 22 พ.ค. 68 มรสุมอ่อนลงบ้าง ฝนเบาลงบ้าง ฝนที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดู อาจมีหลายเวลา ส่วนใหญ่ยังเป็นฝนฟ้าคะนอง มีลมกระโชกแรง ปริมาณเฉลี่ยเล็กน้อยถึงปานกลาง และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ฝนจะเกิดขึ้นในช่วงบ่ายถึงค่ำ โดยปกติประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนประมาณกลางเดือน พ.ค.
สำหรับฤดูฝนปีนี้รอประกาศอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยาอีกครั้ง เมื่อพิจารณาเกณฑ์หรือเงื่อนไขต่างๆ ครบถ้วน ช่วงที่มีฝนควรสำรองน้ำไว้ใช้ เพื่ออุปโภค บริโภค ในบางพื้นที่น้ำฝนยังไม่เพียงพอต่อการเกษตรกรรม