ค้นพบ “ทาก” ในอำพัน 99 ล้านปี ถูกยางไม้เคลือบยกครัว-หลังเพิ่งออกลูก 5 ตัว
ค้นพบ “ทาก” - วันที่ 15 มิ.ย. เดลีเมล์ รายงานการค้นพบสำคัญในเมียนมา หลังจากทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิล “ทากบก” ติดอยู่ในอำพันเมื่อราว 99 ล้านปีก่อน
สันนิษฐานว่าทากตัวนี้น่าจะหมดแรงหลังเพิ่งออกลูก ส่งผลให้ยางไม้ที่ไหลออกมาเคลือบแม่ทากพร้อมกับลูกๆ อีก 5 ตัว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้คือ Cretatortulosa gignens เป็นทากยุคโบราณที่ออกลูกเป็นตัว
ดร.เอเดรียน โยคุม นักชีววิทยาจากสถาบันวิจัยเซนเคนแบร์กและพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เปิดเผยในวารสารงานวิจัยกอนดาวารีเสิร์ช ว่า พบฟอสซิลแม่ทากและลูกทากในเหมืองอำพันทางตอนเหนือของเมียนมา ถือเป็นฟอสซิลที่แสดงถึงการออกลูกเป็นตัวในยุคแรกๆ ของหอยทากบก
"นี่คือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการบันทึกอย่างบังเอิญด้วยการรักษาไว้ในรูปแบบของฟอสซิล เราขอเสนอภาพการออกลูกเป็นตัวที่หาดูได้ยากยิ่งของทากบกถูกอำพันห่อหุ้มร่างกายขณะออกลูก ในช่วงกลางของยุคครีเทเชียสหรือช่วงต้นของยุคซีโนมาเนียน' ดร.โยคุมอธิบาย และว่าแม่ทากน่าจะรู้ชะตากรรมที่กำลังเกิดขึ้น เพราะหนวดแผ่ออกในลักษณะท่าเตรียมพร้อมเผชิญภัยคุกคาม
การออกลูกเป็นตัวของทากบก Cretatortulosa gignens อาจมีวิวัฒนาการเพื่อปกป้องลูกน้อยจากสัตว์นักล่าให้ได้นานที่สุดเท่า เช่นเดียวกับญาติของทากบกโบราณสายพันธุ์สมัยใหม่ในวงศ์ Cyclophoroidea ซึ่งการค้นพบใหม่ครั้งนี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่าลูกของทากบกสายพันธุ์โบราณอาจมีขนาดเล็กกว่าและจำนวนน้อยที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับลูกหอยทากสายพันธุ์วางไข่ ซึ่งการออกลูกเป็นตัวช่วยเพิ่มมโอกาสในการอยู่รอดได้
ก่อนหน้านี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ในเมียนมาเพิ่งแถลงพบการค้นพบสำคัญหลังเจอซากกิ้งก่า Oculudentavis khaungraae ในอำพันอายุกว่า 99 ล้านปี และเมื่อปลายปี 2563 ยังพบดอกไม้เบ่งบานในอำพันเมื่อ 100 ล้านปีก่อน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Valviloculus pleristaminis จัดอยู่ในตระกูลไม้ดอกเป็นญาติกับต้นแบล็กฮาร์ต ซาซาฟราส ที่พบในออสเตรเลีย