รีเซต

‘ศบค.’ เผยกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนน้อยสุด ย้ำติดโควิดโอกาสเสียชีวิตกว่า 50%

‘ศบค.’ เผยกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนน้อยสุด ย้ำติดโควิดโอกาสเสียชีวิตกว่า 50%
มติชน
15 ธันวาคม 2564 ( 16:20 )
42

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล แพทย์หญิงสุมณี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น จำนวน 3,370 ราย โดยแบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,239 ราย แบ่งเป็นจากระบบเฝ้าระวังและบริการสุขภาพ 3,161 ราย จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 78 ราย จากเรือนจำหรือที่ต้องขัง 111 ราย และเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอีก 20 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 2,178,276 ราย ส่วนผู้หายป่วย อยู่ที่ 4,557 ราย รวมยอดรักษาหาย 2,110,701 ราย และมีผู้ยังเข้ารับการรักษาอยู่ จำนวน 46,315 ราย แบ่งเป็นการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล จำนวน 23,129 ราย ในโรงพยาบาสนามและอื่นๆ จำนวน 23,186 ราย โดยมีผู้ป่วยอาการหนัก จำนวน 1,018 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ป่วยหนักที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจกว่า 277 ราย

 

แพทย์หญิงสุมณี กล่าวว่า พบผู้เสียชีวิตอีก 29 ราย ส่งผลให้ยอดเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 21,166 ราย คิดเป็น 0.98% แบ่งเป็นเพศชาย 6 ราย เพศหญิง 23 ราย คนไทย 28 คน เมียนมาร์ 1 คน ค่าเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 80 ปี โดยภาพของกลุ่มผู้เสียชีวิตยังคงเดิม เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว ซึ่งพบว่ามีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 1 ราย อายุ 43 ปี จากจังหวัดชลบุรี มีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน และที่สำคัญยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยหากประเมินผลจากการฉีดวัคซีนในช่วงที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มที่ยังฉีดวัคซีนได้น้อยที่สุดคือ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากกว่า 50% ของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิดจะเสียชีวิตพร้อมบุตร โดยอยากขอให้ครอบครัวพาหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ เข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูก รวมถึงหากประเมินจากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้ง 29 ราย พบว่ามี 21 รายที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน รวมถึงเมื่อทำการสอบสวนโรคของผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมด พบว่าติดเชื้อจากคนในครอบครัว ทำให้นอกจากการรณรงค์ให้พาผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว อยากให้คนในครอบครัวเข้มงวดในใช้มาตรการส่วนบุคคล เพื่อป้องกันโควิดในครอบครัวด้วย โดยเฉพาะการล้างมือบ่อยๆ และแยกกันรับประทานอาหาร

 

แพทย์หญิงสุมณี กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศ จากข้อมูลพบว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2564 เมื่อมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลดลงทุกกลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยอาการรุนแรง เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 1.52% ลดลงจาก 1.61% เทียบกับเดือนตุลาคม 2.ผู้ป่วยเสียชีวิต อยู่ที่ 0.37% ลดลงจาก 0.57% เทียบกับเดือนตุลาคม และ 3.ครอบคลุมได้รับวัคซีนกลุ่ม 607 อยู่ที่ 71.9% ลดลงจาก 65.7% เทียบกับเดือนตุลาคม โดยหากมีผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน อยากให้ครอบครัวพาไปรับวัคซีน เนื่องจากขณะนี้มีวัคซีนหลายยี่ห้อและมีจำนวนมากเพียงพอแล้ว สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส โดยจากมติที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ และสาธารณสุขและที่ประชุมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคครั้งที่ 9/2564 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 อนุมัติให้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือวัคซีนเข็มที่ 3 เนื่องจากการฉีดวัคซีนช่วงที่ผ่าน ภูมิคุ้มกันน่าจะลดลงมากแล้ว รวมถึงมีเชื้อโอไมครอนเกิดขึ้นและกระจายไปในหลายพื้นที่ ซึ่งสามารถเข้ารับวัคซีนได้ในสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือในพื้นที่จังหวัดที่อาศัยอยู่ อาทิ กรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลเจริญกรุง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลคลองสามวา รวมถึงศูนย์บริการสาธารณสุข 6 แห่ง แต่ต้องนัดหมายผ่านแอพพลิเคชั่นคิวคิว เพื่อทำการจองเวลาก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง