"ใต้โต๊ะ-ฮั้ว-บริษัทนอมินี" เปิด 7 ช่องโหว่โกง "ภาษี" คนไทย ผ่านคอร์รัปชันในโครงการรัฐ

ชีวิตที่ผ่านมา คุณเคยเจอ เรื่องราว แบบนี้ไหม
- เจ้าหน้าที่เรียก “ใต้โต๊ะ” เพื่อเร่งเอกสารขั้นตอนต่างๆ ผ่านไวขึ้น
- ข้าราชการ ฮั้วประมูล เอื้อประโยชน์ให้บริษัท นามสกุลดัง
- โครงการงบก่อสร้างอาคารสูงเวอร์ แต่พังเร็ว ไม่แข็งแรง บางตึกถล่ม
- กลุ่มผู้รับเหมา เพิ่งก่อตั้งไม่กี่ปี แต่ดันชนะการประมูล ได้จับงานรัฐ Mega project
ถ้าใช่ นี่เรียกว่า การคอร์รัปชั่น
เรามาส่อง 7 ขั้นตอนโครงการรัฐ ที่เต็มไปด้วย ช่องโหว่ มาดูกันว่า พวกโกงแผ่นดิน กินเงินคอร์รัปชั่น เขามีวิธีการ เอาเงินเราไปยังไง? หลังเพจ องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น ออกมาตีแผ่ และเราต้องร่วมขยาย
การคอร์รัปชั่น คืออะไร?
คอร์รัปชั่น คือ กระบวนการทุจริตเบียดบังทรัพย์ผู้อื่นมาเป็นของตน โดยใช้อำนาจ หรือ หน้าที่ ที่ตัวเองมี เอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง หรือพวกพ้อง
ประเทศไทย ได้ยินคำนี้จนชินชา เห็นข่าวการโกงแทบทุกเดือน โกงเงิน โกงยา โกงค่าอาหาร ทำกันตั้งแต่โครงการเล็ก ยัน โครงการระดับชาติ แต่ดันไม่มีใครลาออกเพื่อรับผิดชอบสักคน
จนล่าสุด ญี่ปุ่น ไม่ได้ตกใจเราที่ ตึกถล่มแบบ แพนเค้กคอลแลป แต่ตกใจที่ ไทย มีการคอร์รัปชั่น ใหญ่โตขนาดนี้ได้ยังไง
รู้ไหมว่า ผลกระทบจากการคอร์รัปชั่น มากมายแค่ไหน?
- สูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปแบบเปล่าประโยชน์ เข้ากระเป๋าคนกลุ่มเดียว
- ประเทศก็ไม่พัฒนา เพราะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด สิ่งปลูกสร้าง ไม่แข็งแรง
- ประชาชนเสียศรัทธาความเชื่อมั่น อยู่แบบ ไร้ที่พึ่ง เพราะรู้สึกว่า ภาครัฐ หรือ ข้าราชการ แก้ปัญหาให้ประชาชนแบบไม่จริงใจ
- ซ้ำร้าย การลงทุนจากต่างชาติ จะยิ่งลดน้อยถอยลงไปทุกที เศรษฐกิจกระเตื้องยาก
เพราะนักลงทุนจะอาศัย ดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI ประกอบการตัดสินใจว่าจะเข้ามาลงทุนหรือไม่? เพราะหากลงทุนในประเทศ ที่การเมืองไม่ก้าวหน้า บ้านเมืองไม่พัฒนา เต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น ก็มีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจระยะยาว ดังนั้น จะเป็นว่า ประเทศที่มีการทุจริตน้อย จะเนื้อหอมต่อการลงทุนกว่า เช่น สิงคโปร์ อันดับ 3 ในโลก ได้ 84 คะแนน
ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 107 จาก 180 ประเทศ รั้งอันดับ 5 ในอาเซียน แม้จะกระเตื้องขึ้นจากปีก่อน 1 ลำดับ แต่คะแนนที่ได้ลดลง จาก 100 ได้ 34 คะแนน
การคอร์รัปในไทย ทำไม คนไทยรู้ สื่อรู้ แต่กลับพูดไม่ได้ หรือคนไทย จะชินชา กับปัญหา คอร์รัปชั่น ?
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) ได้เปิดเผย 7 ช่องโหว ของโครงการภาครัฐที่อาจนำไปสู่การทุจริตได้ ในทุกขั้นตอน
เสนอแผนโครงการลอย
คิดโครงการในอากาศขึ้นเอง และผลักดันกันเอง จากนโยบายกลาง และ ความต้องการของกลุ่มทุนโดยไม่ผ่านการรับฟังความต้องการของประชาชนจริงในพื้นที่ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด แต่เอาแค่พวกพ้องต้องการทำ เพื่อกินเงิน บริษัทฉัน บริษัทเธอได้ จบ
ตั้งงบประมาณไม่ตรงกับความเป็นจริง
ตั้งราคาแพงเกินจริง เพื่อกินเงินทอนทีหลัง หรือ ลดสเปคสิ่งของลง เอาของไม่ดีมาใช้ เพื่อให้เขียนราคาใส่เพิ่มไปได้ ค่อยๆซุกในรายการเล็กๆ และเบิกทีหลังได้ โดยไม่พิรุธ
เขียน TOR ล็อบบี้สเปคผู้ประมูล
เป็นเครื่องมือ ล็อค ที่ทรงพลังมาก โครงการรัฐทุกโครงการต้องมีเอกสารฉบับนี้ เรียกว่า TOR คือ เอกสารที่กำหนดรายละเอียดของโครงการทุกอย่าง และทุกคนต้องทำตาม TOR แต่มันคือการที่หน่วยงานรัฐ เขียนขึ้นมาเอง และ ภาษาราชการ มันต้องตีความ ทำให้ในส่วนนี้อาจมีการเขียนรายละเอียดให้ยาก กำกวมในการตีความ กำหนดสเปคเฉพาะ เพื่อให้เอื้อ ต่อผู้รับเหมาพวกพ้องรายใดรายหนึ่งได้เลย และ ยากต่อการตรวจสอบด้วย เราจึงมักพบว่าหลายๆครั้ง ผู้ชนะประมูล อาจเป็นหน้าเดิมๆ
เปิดประมูล
แม้ระบบจะใช้ E-bidding แต่ช่องโหว่ของ “ฮั้วประมูล” ยังเกิดขึ้นได้เสมอ เช่น ตกลงกันล่วงหน้า ให้เสนอราคาห่างกันเพียงเล็กน้อยแบบ “แบ่งเค้ก” หรือ ใช้ “นอมินี” มาประมูลแข่งกันเอง เพื่อให้ยังไงก็ได้งานนี้อยู่ดี
ควบคุมงาน
หน้างานจริงใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน เพราะเจ้าหน้าที่ควบคุมงาน
มีการตกลงใต้โต๊ะกับผู้รับเหมา ผลคือสิ่งปลูกสร้างที่พังง่าย เสื่อมสภาพเร็ว แบบที่เราเคยเห็น
ตรวจรับงาน
ตรวจรับแบบ “ผ่านไปก่อน” โดยไม่ตรวจเทียบกับ TOR หรือแบบที่กำหนด เพื่อให้เบิกงวดสุดท้ายได้เร็ว ทั้งที่โครงการยังไม่สมบูรณ์ แต่ผู้รับเหมาชิ่งเงินไปแบ่งกันเรียบร้อย
ซ่อมบำรุง
หลายโครงการแม้สร้างเสร็จ แต่หากไม่มีการติดตาม อาจมีการเบิกงบซ่อมซ้ำ ทั้งที่ไม่มีการซ่อมจริง หรือซ่อมแบบลวก ๆ หรือ ยังไม่ทันพัง ก็ของบรื้อ และ ซ่อมเสียแล้ว ทั้งที่ไม่ได้มีความจำเป็นเลย ยิ่งเบิกได้มาก ก็มีโอกาส กินงบ ได้ ถ้าไม่เบิก ก็กินไม่ได้
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ ข้อสังเกต” แต่คือ “ลักษณะพฤติกรรมทุจริตจริง” ที่ ACT พบซ้ำจากโครงรัฐ แนะภาครัฐ ผลักดัน 2 กลไกสำคัญ เพื่อป้องกันการทุจริต และเร่งสร้างความเชื่อมั่นคืนให้กับประชาชน
1.Integrity Pact (IP): ข้อตกลงคุณธรรมที่เปิดให้ผู้สังเกตการณ์อิสระเข้ามาร่วมตรวจสอบทุกขั้นตอนของโครงการ.
2.CoST Thailand: โครงการเผยแพร่ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดเผย TOR ราคากลาง สัญญา ผู้รับเหมา และความคืบหน้าต่อสาธารณะ.
ถ้าเราไม่อยากให้ลูกหลานโตมาในประเทศที่ “โกงเป็นเรื่องปกติ” วันนี้…เราทุกคนต้องช่วยกันจับตา และไม่ยอมเงียบ เพราะความเงียบ คือดินแดนที่คอร์รัปชันเติบโตได้ดีที่สุด