รีเซต

7 สายการบินขู่ปลด 2 หมื่นชีวิต หากรัฐไม่ปล่อยซอฟต์โลน 5 พันล้าน - โอดห้ามบิน 13 จว.ลั่นเกิน 3 เดือน เจ๊งเรียบ

7 สายการบินขู่ปลด 2 หมื่นชีวิต หากรัฐไม่ปล่อยซอฟต์โลน 5 พันล้าน - โอดห้ามบิน 13 จว.ลั่นเกิน 3 เดือน เจ๊งเรียบ
ข่าวสด
21 กรกฎาคม 2564 ( 14:35 )
77
7 สายการบินขู่ปลด 2 หมื่นชีวิต หากรัฐไม่ปล่อยซอฟต์โลน 5 พันล้าน - โอดห้ามบิน 13 จว.ลั่นเกิน 3 เดือน เจ๊งเรียบ

 

7 สายการบิน ขู่ปลด 2 หมื่นชีวิต หากรัฐไม่ปล่อยซอฟต์โลน 5 พันล้าน - โอดมาตรการห้ามบิน 13 จังหวัดกระทบหนัก หากเกิน 3 เดือน เจ๊งเรียบ

 

 

7 สายการบินขู่ปลดคน - เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564 สมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งร่วมกันจัดตั้งโดยสายการบิน 7 สาย ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, สายการบินไทยสไมล์, สายการบินนกแอร์, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท นำโดยนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในฐานะ นายกสมาคมฯ ได้เปิดแถลงข่าวพิเศษในรูปแบบ virtual conference (แถลงข่าวออนไลน์) เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดจัดสรรขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อเยียวยาให้กับธุรกิจการบินที่ได้รับผล กระทบจากมาตรการจำกัดการปฏิบัติการบินของรัฐบาล ในช่วงการแพร่พะระบาดของโรคโควิด-19

 

 

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า สมาคมฯ ยื่นขอซอฟต์โลนกับกระทรวงการคลัง ตั้งแต่ มี.ค. 2563 และได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 เพื่อขอให้ช่วยเร่งรัดติดตาม และในดือนพ.ค. 2564 ได้ส่งหนังสือไปติดตามทวงถามอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล แม้ว่าจะผ่านมา 478 วันแล้ว

 

 

โดยที่ผ่านมาสายการบินพยายามปรับตัวเอง โดยการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร การบริหารฝูงบินและเส้นทางบินให้เหมาะสมเพื่อลดภาระต้นทุนแล้ว แต่กลับมีการระบาดรอบใหม่เกิดขึ้นอีก ขณะที่รัฐบาลก็ออกมาตรการห้ามบินเที่ยวบินในประเทศในพื้นที่สีแดง 13 จังหวัดแบบไม่มีกำหนด ทำให้สายการบินต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและ ด้านปฏิบัติการบินต่อไป ขณะที่มีรายได้เป็นศูนย์ ซึ่งขณะนี้เริ่มแบกไม่ไหวแล้ว ทั้งนี้หากรัฐบาลไม่ช่วยเหลือ ทั้ง 7 สายการบินคงไม่สามารถรักษาสภาพการจ้างงานพนักงานจำนวน 2 หมื่นคนในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ต่อไปได้ และอาจส่งผลต่อการ กลับมาให้บริการในอนาคตของสายการบิน

 

 

“ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดหาซอฟท์โลนให้กับสายการบินโดยเร็ว รวมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น ลด หรือพักชำระค่าธรรมเนียมด้านการบิน เพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจภาพรวม และผลกระทบให้กับธุรกิจการบิน ซึ่งเป็นกลไกลหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคที่ทำรายได้หลักให้ประเทศในขณะนี้”

 

 

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย อุปนายกสมาคมฯ กล่าวว่า สายการบินได้รับผลกระทบที่รุนแรง ยืดเยื้อ เริ่มมาตั้งแต่ ก.พ. 2563 ทยอยปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศ ช่วงเดือนพ.ค.- พ.ย. 2563 เริ่มดีขึ้นบินได้มากขึ้น พอเข้าช่วงเดือนธ.ค. 2563 เกิดการระบาดระลอก 2 อีก เกิดระลอก 3 ในเดือนเม.ย. 2564 ซึ่งหากนับรวมแล้ว ทำการบินได้เพียง 5 เดือนเท่านั้นเฉพาะเส้นทางในประเทศ รวมทั้งล่าสุดสั่งห้ามบินในประเทศอีก ทำให้ทั้ง 7 สายการบินต้องจอดเครื่องบิน รวม 170 ลำนิ่งสนิท พนักงาน 2 หมื่นคนต้องหยุดงาน ขณะที่สายการบินมีภาระแบกค่าใช้จ่ายบุคลากรเดือนละกว่า 1 พันล้านบาท ขณะที่รายได้เป็นศูนย์จึงขอให้รัฐเร่งช่วยเหลือโดยเร็ว

 

 

นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท อุปนายกสมาคมฯ กล่าวว่า สมาคมฯ ยอมปรับลดวงเงินรับจัดซอฟต์โลนเหลือเพียง 5 พันล้านบาท จากเดิมที่ขอไป 2.7 หมื่นล้านบาท โดยจะนำไปใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาสภาพการจ้างงานในอุตสาหกรรมการบินจำนวน 2 หมื่นคนเท่านั้น จึงอยากขอความเห็นใจจากการทรวงการคลังและรัฐบาลหาเงินกู้ 5 พันล้านบาท มาเป็นวงเงินต่อลมหายใจให้กับสายการบินด้วย เพราะจำเป็นรักษาการจ้างงานในอุตสาหกรรมการบินซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไว้

 

 

“ถ้าเราได้ 5 พันล้าน จะประคองการจ้างงาน 2 หมื่นคนได้ถึงสิ้นปีนี้ ส่วนภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินนั้นต้องจับตายอดผู้ติดเชื้อ และการกระจายวัคซีนของรัฐบาลว่าจะครอบคุลมแค่ไหน รวมไปถึงมาตรการการห้ามบินในประเทศ ซึ่งหากรัฐบาลยังคุมยอดคนติดเชื้อไม่ได้ และยังมีการห้ามบินในประเทศต่อเนื่องไปอีก 3 เดือน 7 สายการบินคงอยู่ไม่ไหวแล้ว ต้องปิดกิจการกันทั้งหมด”

 

 

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาขยายเวลาปรับลดภาษีสรรสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินออกไปอีกจากเดิมที่จะสิ้นสุดสิ้นปีนี้ รวมทั้งการให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาปรับลดค่าธรรมเนียมสนามบิน และค่าบริการการจราจรทางอากาศด้วย เนื่องจากธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ หากไม่มีสายการบินให้บริการจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงหากเกิดกรณีกรณีการแซงชั่น หรือเกิดปัญหาระหว่างประเทศ

 

 

นางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยสมายล์ อุปนายกสมาคมฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่ม รมว.แรงงาน เพื่อขอให้ช่วยดูแลการจ้างงานของพนักงาน2หมื่นคน ซึ่งกระทรวงแรงงานพร้อมให้ความช่วยเหลือ แต่มีข้อจำกัด เพราะสามารถช่วยเหลือได้เฉพาะอุตสาหกรรมขนาดย่อมเท่านั้น ไม่สามารถช่วยเหลืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ โดยสามารถปล่อยกู้ให้ สมาคมได้เพียง 15 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมการบิน โดยกระทรวงแรงงานรับปากที่จะไปหาทางออกให้ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง