รีเซต

ครม.อนุมัติ ประกันสังคมจ่ายชดเชยการว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เพิ่มเป็น 60 %

ครม.อนุมัติ ประกันสังคมจ่ายชดเชยการว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เพิ่มเป็น 60 %
77ข่าวเด็ด
31 มีนาคม 2563 ( 08:50 )
68

กรุงเทพฯ – ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบปลดล็อก ประกันสังคมจ่ายเงินทดแทน เพิ่มเป็น 60 % ของค่าจ้าง กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย หรือหยุดประกอบกิจการ จากโรคระบาด

วันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ขอทบทวนอัตราและระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. ….

โดยให้แก้ไขข้อกำหนดข้อ 3 วรรคหนึ่ง จากเดิมที่ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน180 วัน ” เป็น

“ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 60 ของของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังแก้ไขข้อ 3 วรรคสองจากเดิมที่กำหนดว่า “ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 60 วัน” เป็น

“ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน ที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ตามมาตรา 79/1 ในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งแต่ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง