รีเซต

"น้องฟาง"รอความหวังส่งต่อรักษาโรคภูมิคุ้มกันทำลายสมอง

"น้องฟาง"รอความหวังส่งต่อรักษาโรคภูมิคุ้มกันทำลายสมอง
PakornR
19 กันยายน 2563 ( 11:01 )
1.3K
"น้องฟาง"รอความหวังส่งต่อรักษาโรคภูมิคุ้มกันทำลายสมอง

จากกรณี บัญชี facebook ส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า Yam Patitta ได้โพสต์ขอความช่วยเหลือ จากเหตุการณ์เพื่อนสนิท ที่ชื่อ​"น้องฟาง" สาวน้อยวัย 15 ปี ที่ป่วยเป็นโรค Anti NMDA ซึ่งขณะนี้น้องฟางนอนไม่ได้สติ อยู่ ICU ในโรงพยาบาลแห่หนึ่งย่ายมีนบุรี มาร่วม 2 เดือนแล้ว

 

โดยข้อความ ระบุว่า 

 

#ด่วน ต้องการความช่วยเหลือ
ขอความกรุณาอ่านแล้ว​ช่วยแชร์เพื่อช่วยเพื่อนของหนูด้วยค่ะ🙏

เพื่อนหนูชื่อฟาง​ อายุ15​ปี ป่วยเป็นโรค​ Anti NMDA ภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายระบบประสาทและสมอง โรคนี้โอกาสเกิดน้อยมากจึงไม่เป็นที่รู้จัก​ แต่เกิดกับฟาง และก็ยังมีโรคเเทรกซ้อนเข้ามาเพิ่มอีก ฟางนอนไม่ได้สติอยู่โรงพยาบาลห้องICU มา​ 2เดือนแล้ว​ ตอนนี้ฟางต้องย้ายโรงพยาบาล คุณพ่อของฟางและทางผู้ปกครองพยายามติดต่อโรงพยาบาลหลายแห่งเพื่อย้ายฟางไปรักษาต่อ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ​ หนูขอความกรุณาถ้าใครที่รู้จักคุณหมอที่เชี่ยวชาญด้านนี้​ ช่วยมาช่วยรักษาเพื่อนของหนูด้วยนะคะ หรือช่วยแชร์ให้ทั่วถึงที่สุดด้วยค่ะ

 

 

 

เบื้องต้น จากการตรวจสอบกับคนใกล้ชิดครอบครัวน้องฟาง ทราบว่า ขณะนี้ ทางพ่อของน้องฟาง ได้รับการติดต่อจากทางโรงพยาบาลที่รักษาตัวอยู่ หลังจากก่อนหน้านี้ได้เจรจาเพื่อจะขอให้ทำเรื่องส่งตัวไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และมียาเฉพาะสำหรับรักษาโรคนี้ ในสูตรที่ 4 เนื่องจากโรงพยายบาลที่รักษาตัวอยู่นี้ มีแค่ยาสูตร 3  โดยก่อนหน้านี้ แม้ว่าพ่อของน้องฟางจะได้รับการติดต่อจากทางโรงพยาบาลว่า ได้พยายามเจรจากับโรงพยายาบาลปลายทางเพื่อรับส่งต่อ แต่ยังไม่มีการตอบรับกลับมา โดยระบุว่า ขั้นตอนการรักษาก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนที่ต้องรักษาอยู่ปัจจุบัน 

 

อย่างไรก็ตาม ทราบว่า ในช่วงคืนที่ผ่านมา พ่อน้องฟาง ได้รับการติดต่ออีกครั้งจากทางโรงพยาบาลว่าทางผู้บริหารจะทำเรื่องส่งตัวให้อีกครั้ง เนื่องจากเริ่มมีกระแสแชร์เรื่องนี้กันในโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยเป็นไปได้ว่าจะส่งตัวไปรักษาต่อยังสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ต่อไป 

 

 

สำหรับอาการป่วยด้วยโรค ANTI NMDA ทางพ่อของน้องฟาง ได้เปิดเผยว่า น้องฟางเป็นเด็กเรียนดี ตั้งใจเรียน มาพบว่าเริ่มป่วยก่อนเปิดเทอม ช่วงปลายเดือน มิ.ย. ในครอบครัวตนเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว ดูแลลูก 4 คน  น้องฟางมีอาการชาเคยเป็นตั้งแต่ 2-3 ขวบแล้ว ปกติคุณพ่อจะใช้น้ำอุ่นหรือถุงร้อนมาประคบเพื่อบรรเทาอาการ แต่ครั้งนี้อาการหนัก คุณพ่อจึงพาน้องฟางไปโรงพยาบาล เบื้องต้น คาดว่าน้องฟางขาดสารอาหาร
วันต่อมา อาการน้องฟางหนักขึ้น โดยบอกกับคุณพ่อว่า มีอาการชาครึ่งตัวทั้งซีกซ้าย คุณพ่อจึงพาไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง คราวนี้คุณหมอบอกให้มาอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นเพื่อพบคุณหมอเฉพาะทาง แต่ในช่วงกลางดึก ปรากฏว่าอาการไม่ดีขึ้นเกิดชักเกร็ง  จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง ขณะนั้น น้องฟางยังสามารถกรอกประวัติได้ด้วยตัวเอง เมื่อเข้าห้องฉุกเฉิน คุณหมอก็พาน้องฟางไปเอ็กซเรย์สมอง ก่อนจะแอดมิดนอนในโรงพยาบาล ตอนนั้นคุณหมอคาด น่าจะเกิดจากเชื้อไวรัสเข้าสมองจึงให้ยาฆ่าเชื้อคุมไว้ก่อน

 

การรักษา ผ่านไป 3-4 วัน น้องฟางเริ่มมีอาการเพ้อ เวลานอนตอนกลางคืนมีอาการกรีดร้อง คุณหมอต้องเจาะไขสันหลังน้องฟางเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสเชื้อแบคทีเรียแต่ก็ไม่พบ ผ่านไป 5 วัน คุณหมอเจาะไขสันหลังอีกครั้ง ก่อนส่งตรวจที่สถาบันประสาทวิทยา ผลตรวจออกมา น้องฟาง ป่วยเป็นโรค Anti NMDA (ภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายสารสื่อประสาทในสมอง) ซึ่งอาการที่พบนั้น น้องฟางมีอาการกรีดร้องเป็นระยะ ปากสั่น กัดฟัน จนกัดท่อออกซิเจนจนฟันหน้าโยก 3 ซี่ ขากระตุกอยู่ตลอดเวลา คุณหมอจึงต้องให้ยานอนหลับกับยาคลายกล้ามเนื้อ ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน กว่า 2 เดือน น้องฟางต้องนอนอยู่ในห้อง ICU และใช้เครื่องช่วยหายใจตลอด 

 

ทั้งนี้ ทางพ่อของน้องฟาง และทางโรงพยาบาลที่รักษาตัว ได้พูดคุยเรื่องการรักษามาโดยตลอด และทางแพทย์เจ้าของไข้พยายามติดต่อเรื่องการส่งตัวรักษา แต่หลายแห่งกลับปฏิเสธการรับตัว โดยให้เหตุผลว่า การรับตัวเข้ามารักษาต่ออาจไม่แตกต่างจากวิธีการรักษาที่เดิม จึงยังให้โรงพยาบาลเดิมรักษาตัวไปก่อน 

 

ล่าสุดในเช้าวันที่ 19 ก.ย. ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ทราบเรื่องดังกล่าว และทางผู้บริหารได้มอบหมายให้ นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา เข้าไปประสานงานการรักษาอาการป่วยในเรื่องนี้แล้ว 

 

รู้จักโรค Anti-NMDA ภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายสมอง 

 
         โรคนี้เป็นโรคค่อนข้างใหม่ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพิ่งวินิจฉัยได้ประมาณปี 2550-2551 ซึ่งพบว่าเกิดจากสาร Anti-NMDA receptor encephalitis  ที่ร่างกายสร้างขึ้นมา ทำให้เกิดอาการผิดปกติในสมอง ทำลายสารรับสื่อประสาท และส่งผลกระทบต่อหลายระบบ โดยเฉพาะระบบประสาท
 
          ก่อนหน้านี้จะพบว่า สัมพันธ์กับผู้ที่มี เนื้องอกในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น รังไข่ หรืออัณฑะ และส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงมากกว่า ปัจจุบันแม้ไม่มีเนื้องอกก็สามารถ เกิดขึ้นได้ อาจจะสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
 
          อุบัติการณ์เกิดโรคได้ในผู้ป่วย อายุ 2-84 ปี ส่วนใหญ่เกิดในช่วงวัยรุ่น อาการเริ่มแรก จะมีไข้ ปวดศีรษะ เดินเซ ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ โดยเฉพาะมือ แขนขา ความดันโลหิตสูงต่ำขึ้นๆ ลงๆ พบความผิดปกติในชีวิตประจำวัน มีอาการคล้ายจิตเภท เช่น หูแว่ว ประสาทหลอน ได้ยินเสียง หรือเห็นภาพว่าใครจะมาทำร้าย ซึ่งอาการที่พบในผู้ใหญ่และเด็กจะคล้ายกัน
 
          ร.พ.เด็ก ได้รับเด็กที่ป่วยโรค Anti-NMDA receptor encephalitis ประมาณ 15 รายแล้ว เคยพบผู้ป่วยรายหนึ่งอายุ 14 ปี มีอาการสั่น มองเห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้าย ความดันสูง ชัก เมื่อเจาะน้ำในไขสันหลัง ส่งตรวจที่สถาบันประสาท ก็พบว่าเกิดโรค Anti-NMDA receptor encephalitis  จึงรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน IVIG ร่วมกับการให้สเตียรอยด์ ซึ่งอาการดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ เมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 4 อาการกลับมาเป็นปกติ เดินได้ แต่จำไม่ได้ว่าเคยป่วย
 
          ปัจจุบันถือว่าผลการรักษาน่าพอใจ แต่ต้องระวังอาการแทรกซ้อน โดยเฉพาะปอดอักเสบ เพราะต้องให้ยา กันชัก ยาปรับพฤติกรรม ยาควบคุมการเคลื่อนไหวซึ่งจะทำให้เสมหะเยอะ และเสี่ยงติดเชื้อ  มีปัญหาจากแผลกดทับจากการนอนนานๆ ดังนั้นจึงต้องรักษาแบบประคับประคอง ทำกายภาพบำบัดคู่ไปด้วย โดยภายหลังจากหายเป็นปกติ ผู้ป่วยที่มีอาการมาก อาจคิดช้า หรือมีปัญหาเรื่องสมาธิ
 
          เมื่อพบอาการผิดปกติสามารถวินิจฉัยด้วยการเจาะน้ำไขสันหลังเลือด และการตรวจคลื่นสมอง และยังต้องหาความผิดปกติของเนื้องอกร่วมด้วย เมื่อตรวจพบสาร AntiNMDA receptor encephalitis  แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เกิดเนื้องอก จะเกิดความผิดปกติของสาร Anti-NMDAreceptor encephalitis  แต่หากพบสาร ก็ต้องตรวจหาความผิดปกติของเนื้องอกเพิ่มเติม
 
          เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดสาร Anti-NMDA receptor encephalitis ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีโรคอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เพราะถือเป็นโรคใหม่ที่ทางการแพทย์กำลังเก็บข้อมูลของโรคเพิ่มเติม
 
ข้อมูลจาก : https://www.hiso.or.th 
 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง