"เศรษฐกิจสีน้ำเงิน"พื้นที่ใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ
"เศรษฐกิจสีน้ำเงิน" (Blue Economy) ถือเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่นักเศรษฐศาสตร์ / ผู้กำหนดนโยบาย / และองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ เนื่องจาก "เศรษฐกิจสีน้ำเงิน" สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตำแหน่งงาน และพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลได้ ในระหว่างที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมอยู่
หลายทศวรรษที่ผ่านมา การใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทวีความสำคัญมากขึ้น ทั้งในแง่ของการนำมาใช้โดยตรง อาทิ การทำประมงและการขุดก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน และการใช้ประโยชน์โดยอ้อม เช่น การท่องเที่ยว ท่าเรือ การขนส่งทางเรือ การดูดซับคอร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
นับวัน ชุมชนนโยบายยิ่งให้ความสนใจเรื่องการใช้ทรัพยากรทางทะเลในฐานะพื้นที่ใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ (New Economic Frontier) โดยมีรูปธรรมสำคัญคือ แนวคิด ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ (Blue Economy)
เริ่มกันที่ นิยามของ "เศรษฐกิจสีน้ำเงิน" กันก่อน โดยธนาคารโลก (The World Bank) เคยให้คำนิยาม "เศรษฐกิจสีน้ำเงิน" ไว้ว่า คือการใช้ทรัยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมไปถึง การพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ของผู้คน ไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล
ขณะที่ สหภาพยุโรป หรือ อียู ได้ให้คำนิยาม "เศรษฐกิจสีน้ำเงิน" คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทร ทะเล และชายฝั่ง ที่ครอบคลุมไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่าง แบ่งออกเป็น อุตสาหกรรมที่มีรากฐานมั่นคงแล้ว (established sectors) และ อุตสาหกรรมสีน้ำเงินเกิดใหม่ (Emerging sectors)
โดย อุตสาหกรรมที่มีรากฐานมั่นคงแล้ว คือ การท่องเที่ยวริมชายฝั่ง / การประมง / การขนส่งทางทะเล (Maritime Transport) / การเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์ในน้ำ (Aquaculture) / การต่อเรือ / การจัดการขยะในทะเล และการสกัดน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในทะเล (Marine Extraction of Oil and Gas) เป็นต้น
ขณะที่ อุตสาหกรรมสีน้ำเงินเกิดใหม่ คือ เทคโนโลยีผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) / การผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่ง (Offshore wind energy) / เทคโนโลยีพลังงานจากมหาสมุทร (Ocean energy) เช่น พลังงานจากคลื่น และ น้ำขึ้น-น้ำลง เป็นต้น
รายงานของ OECD เรื่อง The Ocean Economy in 2030 ประเมินว่า ในปัจจุบันเศรษฐกิจสีน้ำเงินมีมูลค่าอย่างน้อยที่สุด 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และครอบคลุมการจ้างงานกว่า 31 ล้านตำแหน่ง โดยภายในปี 2030 คาดว่ามูลค่าของเศรษฐกิจสีน้ำเงินจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกราว 10 ล้านตำแหน่ง
โดยตามข้อมูลจากสมาคมเครือจักรภพ (The Commonwealth) ระบุว่า เศรษฐกิจมหาสมุทรทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (46 ล้านล้านบาท) เนื่องจาก 80 เปอร์เซนต์ของการค้าทั่วโลก ถูกขนส่งทางทะเล และมีผู้คนทำงานเกี่ยวกับการประมงมากกว่า 350 ล้านตำแหน่งทั่วโลก นอกจากนี้ The Commonwealth ยังคาดการณ์ด้วยว่า ภายในปี 2568 (หรืออีก 5 ปีข้างหน้า) 34% ของการผลิตน้ำมันดิบจะมาจากนอกชายฝั่ง
ต่อไปเศรษฐกิจ insight จะพาไปดูเป็นตัวอย่าง การเติบโตและศักยภาพของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ที่สหภาพยุโรป หรือ อียูได้รวบรวมไว้
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สภาพยุโรป (EU) ได้เปิดเผย "รายงานเศรษฐกิจสีน้ำเงินประจำปี 2020" โดยระบุว่า เศรษฐกิจสีน้ำเงินในประเทศสมาชิกอียู 27 ประเทศกำลังอยู่ใน "ภาวะแข็งแกร่ง" โดยในปี 2018 มีเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ในเศรษฐกิจสีน้ำเงินของอียูมากถึง 750,000 ล้านยูโร (หรือ คิดเป็นเงินไทยมากกว่า 27 ล้านล้านบาท) เพิ่มจากปี 2009 ถึง 12 เปอร์เซนต์
ขณะที่ ส่วนเกินการประกอบการรวม (Gross Operating Surplus) หรือ "ผลกำไร" จากเศรษฐกิจสีน้ำเงินอียูในปี 2018 อยู่ที่ 95,000 ยูโร (หรือ คิดเป็นเงินไทยมากกว่า 3.5 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ถึง 18 เปอร์เซนต์
มูลค่าเพิ่มรวม (Gross Value Added) หรือ GVA ของเศรษฐกิจสีน้ำอียู ในปี 2018 อยู่ที่ 218,000 ล้านยูโร (หรือกว่า 8 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นกว่า 15 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับปี 2009 โดยในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นมูลค่าที่มาจากภาคการท่องเที่ยวริมชายฝั่ง 40 เปอร์เซนต์ / เป็นกิจกรรม ณ ท่าเรือ 16 เปอร์เซนต์ และ มาจากการขนส่งทางทะเลอีก 16 เปอร์เซนต์
ส่วนการจ้างงานในเศรษฐกิจสีน้ำเงินอยู่ที่ 5 ล้านตำแหน่ง ในปี 2018 เพิ่มขึ้น 12 เปอร์เซนต์ ภายใน 1 ปี ในจำนวนนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานในภาคการท่องเที่ยวริมชายฝั่งเป็นหลัก 62 % รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทรัพยการพืชและสัตว์ในทะเล 11 เปอร์เซนต์ และ ธุรกิจต่างๆ ในท่าเรืออีก 11 เปอร์เซนต์
ไปดู ศักยภาพของอุตสาหกรรมสีน้ำเงินเกิดใหม่ในอียูกันบ้าง เริ่มจาก...
เม็ดเงินที่หมุนเวียนในเศรษฐกิจสีน้ำเงินชีวภาพ (Blue BioEconomy) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในการเพิ่มคุณค่าและการใช้งานจากผลิตภัณฑ์เกษตสีฟ้าที่มีการลงทุนทั้งทางตรงและอ้อมมากถึง 350 ล้านยูโร
เทคโนโลยีผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) ในสหภาพยุโรปยังดึดดูดการลงทุนได้แล้วกว่า 520 ล้านยูโร (หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า บาท) ระหว่างปี 2019 - 2024
ส่วนการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของอุตสาหกรรมพลังงานมหาสมุทร เมื่อปี 2019 ก็สูงถึง 420 ล้านยูโร โดยจะเห็นได้ว่า 70 เปอร์เซนต์ของพลังงานคลื่นจากมหาสมุทรทั่วโลกมาจากน่านน้ำของ EU
ขณะที่ การเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานในภาคการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่ง (Offshore wind energy) ก็เพิ่มขึ้นถึง 9 เท่า ภายในระยะเวลาน้อยกว่า 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 4,600 คน ในปี 2018
ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสีน้ำเงินของอียู่ สามารถเอาชนะผลกระทบร้ายแรงของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินเมื่อปี 2008 ได้อย่างอยู่หมัด
สำหรับมาตรการสนับสนุนปกป้องเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ในยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของอียู ยังเปิดเผยว่า อียูได้ออกมาตรการปกป้องเศรษฐกิจสีน้ำเงินของอียูมาตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว เนื่องจากได้เรียนรู้จากบทเรียนครั้งก่อน
โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ตั้งกองทุนยุโรปเพื่อการลงทุนแบบยุทธศาสตร์ (European Fund for Strategic Investments – EFSI) ที่ลงทุนไปกว่า 1,400 ล้านยูโร (หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 51,600 ล้านบาท) ในโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่ง และเสนอการสนับสนุนในภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ไม่ว่าจะเป็น โครงการพัฒนาท่าเรือ และโครงการขนส่งสะอาด
ส่วนในแพลตฟอร์ม BlueInvest ของคณะกรรมาธิการยุโรปและ EFSI ได้มอบเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ในเศรษฐกิจสีน้ำเงิน มูลค่า 22 ล้านยูโร (หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 800 ล้านบาท) ในปี 2562 และอีก 20 ล้านยูโร (หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 740 ล้านบาท) ในปี 2563
โดย ธนาคารโลก ได้บรรยายถึงอุปสรรค์และความท้าทายของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ที่หลายคนมักมองว่า เป็นทรัพยากรที่ไร้ขีดจำกัด และเป็นที่เก็บของเสียที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไว้อยู่หลายประการ พร้อมเตือนว่า ทรัพยากรเหล่านี้ยังห่างไกลจากความไร้ขีดจำกัดอย่างมาก โดยโลกเราก็เริ่มเห็นผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนี้....
ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้มทางเศรษฐกิจในปัจจุบันจะทำให้ทรัพยากรในมหาสมุทรเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว / การขาดการลงทุนในมนุษย์ เพื่อสร้างแรงงานให้แก่เศรษฐกิจสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ / การประมงและการใช้ทรัพยากรทางทะเลที่ไม่ยังยืน / ผลกระทบกระทบจากสถานการณ์ climate change / การค้าที่ไม่เป็นธรรม / และ การดูแลทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศมหาสมุทรที่ "ไม่เพียงพอ" โดย ธนาคารโลกยังเตือนไว้ว่า ความไร้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลของสถาบันต่างๆ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความต้องการที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่ความเสียหายของระบบนิเวศน์ทางน้ำและเศรษฐกิจสีน้ำเงินมากขึ้น
ที่สำคัญ การจัดการเศรษฐกิจสีน้ำเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืนจำเป็นต้องมีวิธีคิดแบบใหม่ที่เป็นระบบมากขึ้น ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงบริบทของเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่แตกต่างจากเศรษฐกิจบนแผ่นดินอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE