รีเซต

สุชาติ แจงรบ. ทุ่มงบฯประครองเอสเอ็มอีได้ผล อัตราจ้างงานเพิ่ม-ธุรกิจอยู่รอด

สุชาติ แจงรบ. ทุ่มงบฯประครองเอสเอ็มอีได้ผล อัตราจ้างงานเพิ่ม-ธุรกิจอยู่รอด
มติชน
31 พฤษภาคม 2565 ( 16:31 )
64
สุชาติ แจงรบ. ทุ่มงบฯประครองเอสเอ็มอีได้ผล อัตราจ้างงานเพิ่ม-ธุรกิจอยู่รอด

ข่าววันนี้ 31 พฤษภาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท วาระที่ 1 รับหลักการ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงว่า กรณีที่ส.ส.ฝ่ายค้านระบุว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับธุรกิจเอสเอ็มอี ขอยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะถือเป็นเส้นเลือดเส้นหนึ่งในภาคธุรกิจของไทย มีผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบประมาณ 400,000 ราย มีลูกจ้างรวมกันประมาณ 5 ล้านคน ช่วงเกิดวิกฤตเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่มีความอ่อนไหวที่สุด มีการออกจากงานในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้แก้ปัญหาที่เกี่ยวกับธุรกิจเอสเอ็มอี ตนจึงได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งจากเงินกู้ ไปช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นเวลา 3 เดือน

 

โดยรัฐบาลได้เข้าไปช่วยเหลืออุดหนุนการจ้างงาน อาทิ ถ้าธุรกิจนั้นๆมีลูกจ้าง 100 คน จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล หัวละ 3,000 บาท ซึ่งเมื่อรวม 3 เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 900,000 บาท ซึ่งการเข้าไปอุดหนุนดังกล่าวเพื่อประคับประคองธุรกิจเอสเอ็มอีให้ยังอยู่ได้ พร้อมกับรักษาการจ้างงาน แต่ปรากฏว่าช่วง 3 เดือนดังกล่าว ไม่ใช่แค่สามารถรักษาการจ้างงาน 5 ล้านคนไว้ได้ แต่ยังเพิ่มการจ้างงานอีก 57,000 กว่าคน

 

นายสุชาติ กล่าวว่า เมื่อปี 2563 มีคนที่ต้องออกจากงาน ประมาณ 498,000 คน ต่อมา ปี 2564 รัฐบาลได้มีมาตรการต่างๆออกมา ทำให้การจ้างงานเพิ่มเป็นบวกประมาณ 170,000 กว่าคน และในช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2565 มีอัตราการจ้างงาน 330,000 กว่าราย มากกว่าปี 2562 สิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงจากการที่รัฐบาลประคับประคองธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งนี้ ถ้าธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ไม่ได้ รัฐบาลไม่มีทางจะเก็บภาษีได้ตามเป้า แต่ในช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤต เราจำเป็นต้องนำเงินไปประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด เพื่อที่เมื่อใดถึงเวลาเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวเข้ามา การสร้างความเข้มจะทำให้ธุรกิจนั้นๆเติบโตแบบก้าวกระโดดได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง