จ.นราธิวาส แถลงยืนยันพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 2 ราย สะสมรวม 4 ราย
วันที่ 16 มกราคม 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลาง จ.นราธิวาส นายเจษฎา จิตรัตน์ ผวจ.นราธิวาส พร้อมด้วยนพ.วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุข จ.นราธิวาส ร่วมแถลงข่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ในระลอกที่ 2 โดยนายเจษฎา ผวจ.นราธิวาสกล่าวว่า ล่าสุดพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีกจำนวน 2 ราย เป็นรายที่ 3 และรายที่ 4 ของการระบาดระลอกใหม่ของจังหวัดนราธิวาส ทำให้จังหวัดนราธิวาสมีผู้ป่วยสะสม 47 ราย นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา
สำหรับผู้ป่วยใหม่ 2 ราย รายแรก เป็นเพศหญิง มีภูมิลำเนาจังหวัดเชียงราย ได้ไปทำงานในประเทศมาเลเซีย มีการลักลอบเข้าประเทศไทยทางช่องทางธรรมชาติ และได้เข้ารับการตรวจรักษาที่ห้องแยกโรค โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก รายที่ 2 เป็นเพศชาย เป็นคนจังหวัดนราธิวาส แต่ไปทำงานในโรงงานผลิตและส่งออกอาหารกระป๋อง ในจังหวัดสมุทรสาคร ในรายละเอียดของ Timelines ของผู้ป่วยใหม่ทั้ง 2 รายนี้ ทางสาธารณสุขจังหวัดจะให้รายละเอียดอีกครั้ง
นพ.วิเศษ กล่าวว่า จังหวัดนราธิวาสพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มอีก 2 ราย นับเป็นผู้ป่วยสะสมรายที่ 46 และ 47 และเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่รายที่ 3 และ 4 ของจังหวัดนราธิวาส ขณะนี้กำลังพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก 1 ราย และพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ 1 ราย โดยทั้ง 2 รายนี้เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง
โดยผู้ป่วยใหม่รายที่ 3 เป็นเพศหญิง อายุ 29 ปี จากการสอบสวนพบว่า ผู้ป่วยมีภูมิลำเนาเดิม จังหวัดเชียงราย ประกอบอาชีพใน ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เดินทางเข้าประเทศไทย ในวันที่ 10 มกราคม 2564 ทางท่าเรือท่าทราย ม.7 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยให้ประวัติไทม์ไลน์ว่า
วันที่ 7 มกราคม 2564 มีอาการไข้ ตัวร้อน ปวดเมื่อยตัว จึงไปตรวจที่คลินิกในเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แพทย์ได้ทำการ swab ผลการตรวจ มีโอกาสติดเชื้อ COVID-19
วันที่ 8-9 มกราคม 2564 แยกที่พักจากเพื่อนร่วมงาน และตัดสินใจกลับประเทศไทย วันที่ 10 มกราคม 2564 เดินทางกลับประเทศไทยกับเพื่อน โดยนั่งเรือข้ามแม่น้ำ ขึ้นฝั่งที่ท่าเรือท่าทราย ม.7 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก
วันที่ 11 มกราคม 2564 ผู้ป่วยและเพื่อน เข้ารับการตรวจรักษาที่ห้องแยกโรคโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก มีอาการ ไอ เจ็บคอ และมีเสมหะ โดยได้เก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และส่งตรวจรพ.นราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 12 มกราคม 2564 รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ แจ้งผลตรวจยืนยันพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
วันที่ 13 มกราคม 2564 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา แจ้งผลตรวจยืนยันพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ทั้งนี้มีผู้สัมผัสผู้ป่วยรายนี้ 16 ราย
– ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 15 ราย เก็บตัวอย่าง 14 ราย รอผลตรวจ และไม่ได้เก็บตัวอย่าง 1 ราย เป็นชาวมาเลเซีย
– ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 1 ราย ไม่ได้เก็บตัวอย่าง เป็นชาวมาเลเซีย
อาการโดยทั่วไป มีอาการไอ เล็กน้อย ขณะนี้ผู้ป่วยกำลังพักรักษาตัวและได้รับการดูแลอย่างดีจากทีมแพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก
สำหรับผู้ป่วยใหม่รายที่ 4 เป็นเพศชาย อายุ 20 ปี เป็นคนในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัทผลิตและส่งออกอาหารกระป๋อง ที่จังหวัดสมุทรสาคร พักอาศัยอยู่ในหอพักพร้อมภรรยาและลูกสาว เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร บริษัทฯ ได้ประกาศหยุดกิจการเป็นการชั่วคราว จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดนราธิวาส โดยรถไฟ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 และถึงบ้านใน อ.รือเสาะ วันที่ 9มกราคม 2564 จากการสอบสวนได้ข้อมูลไทม์ไลน์ของผู้ป่วยใหม่รายนี้ดังนี้
ในห้วงปลายเดือนธันวาคม 2563 มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และในโรงงานใกล้ที่พัก ห่างกันเพียง 1 กิโลเมตร มีการติดเชื้อโควิด-19 โดยในห้วง 1 สัปดาห์ก่อนเดินทางกลับ (วันที่ 1-7 มกราคม 2564) ได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี Rapid test (เจาะปลายนิ้ว) ผลการตรวจไม่พบเชื้อ และไม่มีอาการผิดปกติใดๆ
วันที่ 8 มกราคม 2564 ผู้ป่วยพร้อมภรรยาและลูกสาว เดินทางกลับ จ.นราธิวาส ด้วยการโดยสารรถไฟ ขบวนที่ 171 คันที่ 6 เลขที่นั่ง 57 ขึ้นจากสถานีรถไฟศาลายา จ.นครปฐม ปลายทางสถานีรถไฟรือเสาะ จ.นราธิวาส
วันที่ 9 มกราคม 2564 เดินทางถึงสถานีรถไฟรือเสาะ มีแม่ยาย และ อสม.มารับเพื่อไปรายงานตัวที่ สสอ.รือเสาะ และเดินทางมากักตัวต่อที่ LQ กกท.
วันที่ 11 มกราคม 2564 เก็บตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
วันที่ 13 มกราคม 2564 ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และได้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
วันที่ 15 มกราคม 2564 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา แจ้งผลยืนยัน พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
มีผู้สัมผัสผู้ป่วยรายนี้ 29 ราย
– ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 24 ราย เจอตัวและเก็บตัวอย่างตรวจ 6 ราย (ภรรยา,ลูกสาว,แม่ยาย,เจ้าหน้าที่ คัดกรอง และ อสม. 2 คน) รอผลตรวจ อีก 18 ราย เป็นคนขับรถมาส่งที่สถานีรถไฟ เจ้าหน้าที่สถานีรถไฟศาลายา จ.นครปฐม และผู้โดยสารรถไฟขบวนที่ 171 คันที่ 6 อยู่ระหว่างการค้นหา
– ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 5 ราย
อาการโดยทั่วไป ไม่มีไข้ ไม่มีอาการไอ ขณะนี้ผู้ป่วยกำลังพักรักษาตัวและได้รับการดูแลอย่างดีจากทีมแพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
นายแพทย์วิเศษ กล่าวอีกว่า จากกรณีผู้ป่วยใหม่ทั้ง 2 ราย เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค คือประเทศมาเลเซียและจังหวัดที่มีการะบาด ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ดังกล่าว แม้จะไม่มีอาการใดๆ มีความเสี่ยงอาจจะนำเชื้อโรคไปติดคนใกล้ชิดไม่รู้ตัว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส จึงขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนชาวนราธิวาสช่วยกันเฝ้าระวังและสอดส่องผู้ที่ลักลอบเข้าประเทศโดยไม่ผ่านการคัดกรอง หรือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงภายในประเทศ มาจากจังหวัดที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้รายงานตัวกับบุคลากรสาธารณสุขในอำเภอที่ท่านอาศัยอยู่ และปฏิบัติตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
นพ.วิเศษ กล่าวว่า การควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ในจังหวัดนราธิวาส จะไม่ขยายวงกว้าง ถ้าหากชาวนราธิวาสทุกคนให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือ และตามมาตรการที่จังหวัดนราธิวาสกำหนดอย่างจริงจังและเคร่งครัด คาดว่าแนวโน้มการป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ของจังหวัดนราธิวาส จะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และไม่สูงมากตามที่คาดการณ์ไว้ และโรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยในได้ตามมาตรฐานและเพียงพอ แต่ถ้าหากประชาชนยังไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันการติดเชื้อโรค เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า มีการไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก โดยไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่ล้างมือให้สะอาด เป็นต้น คาดว่าในอนาคตจะมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันอย่างเคร่งจะเป็นตัวช่วยอย่างดีที่จะทำให้คนนราธิวาสปลอดโรค จังหวัดนราธิวาสปลอดภัยจาก COVID-19