รีเซต

ฟันธงปี67จีดีพีทะยานต่อ3% ส่งออกฟื้นเอกชนลงทุนเพิ่ม

ฟันธงปี67จีดีพีทะยานต่อ3% ส่งออกฟื้นเอกชนลงทุนเพิ่ม
ทันหุ้น
15 ธันวาคม 2566 ( 18:29 )
24
ฟันธงปี67จีดีพีทะยานต่อ3% ส่งออกฟื้นเอกชนลงทุนเพิ่ม

#SCB EIC #ทันหุ้น - SCB EIC ส่องจีดีไทยปี 2567 เติบโต 3% จากปีนี้ รับส่งออกหวนพุ่ง-เอกชนลงทุนต่อเนื่อง แถมมองดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ราว 2.5% ผู้บริหาร “สมประวิณ มันประเสริฐ” แนะจับตาประเด็นทั้งใน-นอก หวั่นกระทบภาพเศรษฐกิจระยะยาว

 

ดร.สมประวิณ  มันประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานEconomic Intelligence Center ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า ทาง SCB EIC คาดการณ์ในปี 2567 เศรษฐกิจไทย (จีพีดี) จะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.0% เมื่อเทียบกับปี 2566

 

ทั้งนี้การเติบโตของจีดีพีปี 2567 มาจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้จากแนวโน้มการค้าโลกที่ขยายตัวสูงขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวดีตามการฟื้นตัวของการส่งออก แนวโน้มมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ

 

* ปี 67 เผชิญแรงกดดัน

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะฟื้นตัวได้ช้า และขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ จากแรงส่งเศรษฐกิจที่ชะลอลงทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตสูงในปี2566 ทำให้มีฐานตัวเลขที่สูง ขณะที่รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้ากว่าคาด โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย นักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ และการลงทุนภาครัฐที่ยังขยายตัวต่ำจากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี2567

 

ส่วนในแง่ปี 2566 นั้นทาง SCB EIC ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี2566 เป็น 2.6% จากข้อมูลไตรมาส 3/2566 ต่ำกว่าคาดมาก ผลจากการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวแรงขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มลดลงจากประมาณการเต็ม ส่วนหนึ่งจากนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวช้า

 

ขณะที่ในแง่ของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเป็น 2.5% จาก 2.7% ในปี 2566 จากผลของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงเงินออมส่วนเกินที่ใกล้หมด โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา 

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มชะลอลงทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กดดัน ในระยะปานกลางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่จะขยายตัวต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดจากปัจจัยกดดันรอบด้าน โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

 

ในส่วนของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยธนาคารกลางสหรัฐ และยุโรปจะเริ่มผ่อนคลาย นโยบายการเงินเร็วขึ้นเป็นไตรมาส 2/2567 จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเร็วกว่าคาด ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านการ ยกเลิกมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวในช่วงครึ่งแรกของปี และยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในช่วงครึ่งหลังของปี 2567

 

*จับตาปัจจัยใน-นอก

อย่างไรก็ดี ในระยะยาวSCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยยังน่าห่วง มองเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำบนศักยภาพการเติบโตที่ลดลง อันเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ทั้งการลงทุนต่ำ ผลิตภาพการผลิตลดลง และแผลเป็นจากวิกฤติโควิด ซึ่งชัดเจนว่าไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวหลังวิกฤติโควิดได้ช้าติดอันดับรั้งท้ายในโลก

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเปราะบางและอ่อนแอจากภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็กที่ยังมีหนี้สูง แต่รายได้เติบโตช้า อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ 

 

เช่น ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยภายในประเทศที่ยังต้องจับตานโยบายรัฐบาลที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ทรัพยากรภาครัฐมีจำกัดในการใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการลงทุนเพิ่มศักยภาพประเทศในระยะยาว

 

ทั้งนี้ SCB EIC เสนอแนวทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยด้วยชุดนโยบาย “4 สร้าง” 

  • 1.สร้างภูมิคุ้มกันให้ครัวเรือน ผ่านการสร้างกลไก Social Assistance และ Social Insurance ที่ครอบคลุมและเพียงพอ 
  • 2. สร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย ผ่านการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า ปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศ และผลักดันไทยให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งจะช่วยเร่งให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ได้
  • 3. สร้างกลยุทธ์การลงทุนของประเทศให้เหมาะสมกับพลวัตโลกที่เปลี่ยนไป
  • 4. สร้างความยั่งยืนของภาคการผลิตไทย ผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญเอื้อให้ภาคธุรกิจปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง