รีเซต

3 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ค้านขึ้นทะเบียนแก่งกระจานอีก ชี้ยังละเมิดสิทธิ์กะเหรี่ยง

3 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ค้านขึ้นทะเบียนแก่งกระจานอีก ชี้ยังละเมิดสิทธิ์กะเหรี่ยง
มติชน
25 กรกฎาคม 2564 ( 15:05 )
73
3 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ค้านขึ้นทะเบียนแก่งกระจานอีก ชี้ยังละเมิดสิทธิ์กะเหรี่ยง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) 3 คนประกอบด้วย นายโชเซ ฟรานซิสโก คาลี-เซย์ ผู้จัดทำรายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมืองเดิม ประจำคณะมนตรีสิทธิมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี), นายเดวิด อาร์. บอยด์ ผู้จัดทำรายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนและสภาวะแวดล้อม ประจำยูเอ็นเอชอาร์ซี, นาง แมรี ลอว์เลอร์ ผู้จัดทำรายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ต่อยูเอ็นเอชอาร์ซี ได้ร่วมกันทำหนังสือถึง คณะกรรมการมรดกโลก เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา เตือนว่า คณะกรรมการควรยืดการพิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลกออกไปอีก เพราะชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ยังคงตกเป็นเป้า ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่อย่างต่อเนื่อง

 

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการมรดกโลก เคยปฏิเสธคำขอขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานของทางการไทยมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2016 และปี 2019 และกำหนดจะทบทวนคำขอขึ้นทะเบียนของไทยอีกครั้งในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้

 

 

ในหนังสือดังกล่าว ระบุว่า กรณีนี้ถือเป็นกรณีที่จะเป็นแบบอย่างต่อไปในอนาคต และจะมีอิทธิพลต่อนโยบายต่อสิทธิของชนพื้นเมืองเดิมว่าได้รับความเคารพแค่ไหนในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วทั้่งเอเชียอีกด้วย

 

 

“ชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทธยาน ยังคงถูกบังคับให้เคลื่อนย้าย และมีการเผาทำลายบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้นำคนสำคัญถูกฆ่า หลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานควบคุมตัว โดยในปี 2021 นี้การก่อกวนชาวกะเหรี่ยงขยายเพิ่มขึ้นไปอีก โดยมีสมาชิกชุมชนกว่า 80 คนถูกจั้บกุม และในจำนวนนั้น มี 28 คนซึ่งรวมถึง ผู้หญิง 7 คนและเด็กอีก 1 คน ถูกตั้งข้อหาทางอาญาว่า บุกรุก พื้นที่อุทยาน ที่เป็นที่ดินดั้งเดิมของคนเหล่านั้น”

 

 

ผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นเอชอาร์ซี ยังระบุด้วยว่า ไม่มีการหารือกันโดยสุจริตกับชุมชนชาวกะเหรี่ยง เพื่อเปิดโอกาสให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนำเสนอเป็นมรดกโลกแต่อย่างใด ดังนั้น การให้ความเห็นชอบให้พื้นที่นี้เป็นมรดกโลก เท่ากับเป็นการปฏิเสธ สิทธิของชาวกะเหรี่ยงในอันที่จะใช้ชีวิตอยู่บนที่ดินทำกินดั้งเดิมของตน และปฏิเสธการดำรงชีวิตตามประเพณีเดิมที่มีพื้นฐานอยู่กับการทำเกษตรกรรมหมุนเวียน ทั้งยังเป็นการลิดรอนความสำคัญของการมีบทบาทต่อการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ป่าดังกล่าวของชาวกะเหรี่ยงไปอีกด้วย

 

 

“รัฐบาลไทย จำเป็นต้องยุติการก่อกวนผู้ทำหน้าที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและต้องหาหนทางให้เกิดการสานสนทนาที่แท้จริงกับชาวกะเหรี่ยงขึ้น ต้องให้การยอมรับคุณค่าของพวกเขาในฐานะผู้ปกปักรักษาธรรมชาติและทำงานร่วมกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงในฐานะหุ้นส่วนกัน แทนที่จะปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเป็นปฏิปักษ์ ราวกับพวกเขาเป็นภัยคุกคาม”

 

 

ในหนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่า รัฐบาลยังไม่อนุญาตให้ผู้ตรวจสอบอิสระเดินทางเข้าอุทยาน และตั้งข้อสังเกตุว่า องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ก็ให้คำแนะนำต่อคณะกรรมการมรดกโลกให้ปฏิเสธการขึ้นทะเบียนอุทยานแก่งกระจานไปจนกว่าปัญหาที่เป็นกังวลได้รับการแก้ไขสมบูรณ์แล้วอีกด้วย

 

 

ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 รายแสดงความกังวลว่า คณะกรรมการมรดกโลก จะมีมติให้ขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งนี้ โดยยึดถือเอาคำมั่นสัญญาในหน้ากระดาษ แต่ไม่ได้มีวิธีการที่จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เพื่อให้ชุมชนชาวกะเหรี่ยงได้มีสิทธิมีเสียงอย่างแท้จริงใดๆ ในกระบวนการขอขึ้นทะเบียนนี้ จึงขอเรียกร้องให้ระงับการขึ้นทะเบียนต่อไปจนกว่า รัฐบาลไทยจะแก้ปัญหาที่กังวลทั้งหมดไปโดยสมบูรณ์และอนุญาตให้ผู้ตรวจสอบติดตามผลอิสระ สามารถเดินทางเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่อุทยานได้ โดยนายโชเซ ฟรานซิสโก คาลี-เซย์ ย้ำด้วยว่าตนเต็มใจที่รับหน้าที่เดินทางไปเยือนไทยอย่างเป็นทางการและเข้าไปประเมินสถานการณ์ของอุทยานด้วยตัวเองอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง