รีเซต

'สึกพระ' มีกฎเกณฑ์อะไรบ้าง? เมื่อพระเสี่ยงต้องสึก

'สึกพระ' มีกฎเกณฑ์อะไรบ้าง?  เมื่อพระเสี่ยงต้องสึก
TeaC
11 ตุลาคม 2564 ( 13:17 )
1K
'สึกพระ' มีกฎเกณฑ์อะไรบ้าง?  เมื่อพระเสี่ยงต้องสึก

#Saveพระมหาสมปอง แฮชแท็กร้อนบนโซเชียลฯ หลัง "พระมหาสมปอง" ไลฟ์สดน้อยใจถึงกระแสถูกจ้องจับผิด จับสึกพระ ซึ่งวันนี้จะพาทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 (พ.ร.บ.คณะสงฆ์) และกฎมหาเถรสมาคม หากพระเสี่ยงต้องสึก อยู่ในข้อไหนอย่างไรบ้าง? ซึ่งต้องยอมรับว่า "พระสงฆ์" หรือนักบวชของพระพุทธศาสนานั้น แม้จะมีจุดมุ่งหมายคือการเข้าสู่โลกแห่งธรรม แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันภิกษุสงฆ์ไทยไม่ได้แยกจากทางโลกเลยทีเดียว ดังนั้น ประเทศไทยยังกำกับการปกครองคณะสงฆ์ โดยมหาเถรสมาคมที่ได้รับการแต่งตั้ง จะมีหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย

 

คำถามต่อมา ทำไมต้องมีกฎหมาย หรือกฎมหาเถรสมาคมมากำกับ เนื่องจากการพ้นสถานะความเป็นภิษุกสงฆ์ หรือการสละสมณเพศ หรือสรุปง่าย ๆ คือการไม่เป็นพระนั้น ไม่ได้มีแค่ภิกษุรูปนั้นจะยื่นขอลาสิขา หรือสึกจากการเป็นพระเท่านั้น แต่หลายกรณีที่ปรากฎเป็นข่าว อาทิ

 

  • พระปาร์ตี้หมูกระทะวัดดีงในจัหงัดเชียงใหม่ เมื่อผิดกฎหมายทางโลก 
  • เจ้าอาวาสล่วงละเมิดทางเพศ
  • การตกเป็นผู้ล้มละลาย การถูกกล่าวหาในคดีอาญา
  • ฯลฯ

 

โดยกฎหมายและกฎมหาเถรสมาคมก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ส่งผลให้พระต้องสละสมณเพศ ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประพฤติไม่สอดคล้องธรรมวินัย รวมไปถึงการประพฤติในทางโลกด้วย

 

มหาเถรสมาคม มีหน้าที่อะไร?

 

มหาเถรสมาคม (The Sangha Supreme Council of Thailand) เป็นองค์กรสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ไทยตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทำหน้าที่คล้ายกับคณะรัฐมนตรี โดยมีสมเด็จพระสังฆราชหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควรและมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์

 

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ คืออะไร?

 

พระราชบัญัญติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เป็นกฎหมายหลักในการปกครองคณะสงฆ์ในประเทศไทย โดยได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานกว่า 47 ปี ทั้งนี้ การบริหารและการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน ซึ่งจะมีในระดับการปกครองส่วนกลาง และในระดับการปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งได้กระจายอำนาจการปกครองออกเป็นส่วน ๆ ดังนี้

 

ส่วนที่ 1

 

ภาค มีเจ้าคณะภาคดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ในเขตภาคของตนให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม  ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

 

ส่วนที่ 2

จังหวัด มีเจ้าคณะจังหวัดปกครอง (เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และเจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศ)

 

ส่วนที่ 3

อำเภอ มีเจ้าคณะอำเภอปกครอง (เจ้าคณะเขตในกรุงเทพมหานครและเจ้าคณะอำเภอทั่วประเทศ)

 

ส่วนที่ 4

ตำบล มีเจ้าคณะตำบลปกครอง (เจ้าคณะแขวงในกรุงเทพมหานครและเจ้าคณะตำบลทั่วประเทศ)

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลเว็บไซต์สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่า อำนาจหน้าที่สำคัญของเจ้าคณะตำบล นอกจากการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงามแล้ว ยังมีหน้าที่ระงับอธิกรณ์  วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือ คำวินิจฉัยชั้นเจ้าอาวาส แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าอาวาสให้เป็นไปโดยชอบ ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าอาวาสและพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรือผู้อยู่ในปกครองของตน ตรวจการและประชุมพระสังฆาธิการ ในเขตการปกครองของตน

 

พระเสี่ยงต้องสึก จับสึกได้ ?

 

สำหรับกฎเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.คณะสงฑ์ กฎมหาเถรสมาคม เมื่อพระเสี่ยงต้องสึก มี 6 ข้อด้วยกัน ได้แก่

 

1. ภิกษุล่วงละเมิดพระธรรมวินัย
2. ภิกษุไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง
3. ภิกษุไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
4. ภิกษุต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย
5. ภิกษุถูกกล่าวหาว่าหระทความผิดอาญา
6. ภิกษุต้องจำคุก กักขัง หรือขังตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล

 

โดยรายละเอียดขอยกตัวอย่างกฎเกณฑ์ที่หากพระภิกษุกระทำเสี่ยงโดนสึกได้  ทั้งภิกษุล่วงละเมิดพระธรรมวินัย, ภิกษุไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง และภิกษุไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ฯลฯ

 

ภิกษุล่วงละเมิดพระธรรมวินัย

 

ยกตัวอย่าง มีผู้ฟ้อง (โจทก์) ต่อพระภิกษุว่าได้กระทำความผิด โดยยื่นฟ้องเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรด้วยตนเองต่อผู้พิจารณามีอำนาจลงนิคหกรรม (พระผู้พิจารณาฯ) ได้แก่ เจ้าอาวาส เจ้าคณะเจ้าสังกัด หรือเจ้าคณะเจ้าของเขตในเขตที่ความผิดนั้นเกิดขึ้น แล้วแต่กรณี ถ้าคำฟ้องนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในกฎมหาเถรสมาคม จากนั้น จะมีการเรียกให้มาแจ้ง สอบถามและจดคำให้การต่าง ๆ ซึ่งถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามคำฟ้องของโจทก์ ให้พระผู้พิจารณาฯ มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมแก่จำเลย ตามคำรับสารภาพนั้น

 

แต่ถ้าจำเลยให้การแบ่งรับความผิดเบากว่าหรือน้อยกว่าที่ถูกฟ้อง หรือให้การปฏิเสธ พระผู้พิจารณาฯ ก็ต้องรายงานและส่งคำฟ้องต่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้น เพื่อดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไป เมื่อดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องเสร็จแล้ว ถ้าคำฟ้องเรื่องใดมีมูล ให้สั่งประทับฟ้อง แล้วดำเนินการพิจารณาต่อไป แต่ถ้าคำฟ้องเรื่องใดไม่มีมูล ให้สั่งยกฟ้อง 

 

ในกรณีที่ไต่สวนมูลฟ้องแล้วคำฟ้องมีมูล เมื่อสั่งประทับฟ้องแล้ว ก็ต้องดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมต่อไป ซึ่งกระบวนการนี้มีสามชั้น คือ

 

  • ชั้นต้น
  • ชั้นอุทธรณ์
  • ชั้นฎีกา

 

จะเห็นได้ว่ามีการกำหนดกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยบางประการ คล้ายกระบวนการในศาลของประชาชนทั่วไปอย่างเรา ๆ  ดังนั้น กรณีที่พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องสึกภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 26 

 

ภิกษุไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง หรือไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง 

 

ในกฎเกณฑ์ข้อนี้ ตาม พ.รบ.คณะสงฆ์ มาตรา 27 (3) และ (4) กำหนดว่าหากพระภิกษุไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง หรือไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องสึกภายในสามวันนับแต่ต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศ
 

โดยตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ให้อำนาจพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองวัด หรือพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ ใน "เขตท้องที่ที่พบพระภิกษุรูปนั้น" มีอำนาจวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้ และเมื่อได้มีคำวินิจฉัยแล้ว คำวินิจฉัยก็เป็นถึงที่สุด พระภิกษุรูปดังกล่าวจะไม่สามารถโต้แย้งได้ และเมื่อมีคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศแล้ว พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองวัด หรือพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ในเขตท้องที่ที่พบพระภิกษุรูปนั้นต้องแจ้งผลคำวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นทราบ และจัดการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศในที่สุด

 

 

ข้อมูล : วิกิพีเดีย, สำนักงานพระพุทธศาสนา, ilaw.or.th

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง