ETDA ชวนประชาชนแสดงความคิดเห็น ร่างกฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัล 10-25 มี.ค.นี้
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) กล่าวว่า ความคืบหน้าของ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกา การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …. ขณะนี้ได้ผ่านการอนุมัติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเนื้อหาในหลักการของร่างกฎหมายแล้ว ก่อนส่งต่อมาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้เริ่มพิจารณาร่างกฎหมายมาตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างการพิจารณาก็ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง รัฐ เอกชน รวมถึงองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เข้ามาร่วมให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายนี้ เพื่อให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ทับซ้อน มีการประสานการทำงานร่วมกัน และในการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่นี้จะต้องไม่เป็นข้อจำกัดของการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการหรือผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย เป็นต้น
เพื่อให้เนื้อหาของการปรับปรุงร่างกฎหมายมีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด เอ็ตด้า ในฐานะหน่วยงานที่ร่วมผลักดันกฎหมายดังกล่าว จึงได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกาให้นำร่างที่ผ่านการพิจารณา วาระที่ 1 มาเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกครั้ง ดังนั้น เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา เอ็ตด้า จึงได้เปิดเวทีชี้แจงสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่ได้มีการปรับปรุงล่าสุด มานำเสนอให้กับประชาชนได้รับรู้ รับทราบร่วมกันทางออนไลน์ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand เพื่อทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระสำคัญของร่างกฎหมายก่อนที่จะร่วมแสดงความคิดเห็นในลำดับต่อไป
สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาสาระสำคัญบางส่วน ทั้งการปรับแก้ไขเนื้อหาให้ความชัดเจนและเพิ่มเติมในบางประเด็น ทั้งในส่วนของการปรับชื่อร่างกฎหมาย จาก “(ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .…” เปลี่ยนเป็น “(ร่าง) พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ….”
ปรับปรุงคำนิยามของคำว่า “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ให้มีครอบคลุมยิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มเติมรายละเอียดลักษณะบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนประกอบธุรกิจ และแก้ไขรายละเอียดการบังคับใช้กฎหมาย โดยยกเว้นการบังคับใช้กับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดูแล เป็นต้น โดยประชาชนทั่วไปสามารถศึกษารายละเอียดของร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้ที่ https://bit.ly/35XPHYM
นายชัยชนะ กล่าวว่า ทั้งนี้ เพื่อให้เนื้อหาสาระสำคัญของร่างกฎหมายมีความสมบูรณ์ ครอบคลุมในทุกมิติ สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันเอ็ตด้าจึงขอชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอต่อร่างกฎหมาย ดังกล่าว ผ่านช่องทางระบบกฎหมายกลาง ที่ https://rb.gy/ateuk2 ตั้งแต่วันที่ 10-25 มีนาคม 2565 จากนั้นจะทำการรวบรวมนำความเห็นที่ได้รับมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในวาระที่ 2 ก่อนดำเนินการเวียนร่างกฎหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันร่างและเสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ในลำดับต่อไป