รู้จักประเภทพายุ ภัยธรรมชาติสุดน่ากลัว
ในแต่ละช่วงของทุกปี โลกเรามักพบกับเหตุอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากพายุที่หอบความชื้นและทำให้เกิดฝนตกหนักมากมาย ซึ่งด้านนักอุตุนิยมวิทยาได้เรียกชื่อตามพายุของการกำเนิด ซึ่งความแตกต่างของแต่ละพายุเกิดจากอากาศแต่ละบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นลอยตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทำให้อากาศอีกบริเวณหนึ่งที่ต่ำกว่าไหลเข้ามาแทนที จนเกิดเป็นปรากฎการณ์ของหมุนของอากาศจนกลายเป็นพายุ โดยประเภทพายุของเราแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
ภาพจาก : AFP
1 พายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorm)
พายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในบริเวณที่มีอากาศร้อนและความชื้นสูง ซึ่งโดยปกติแล้วจะเกิดใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งถือเป็นพายุที่พบมากในประเทศไทย โดยจะมาในรูปแบบของลักษณะลมแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฝนตกหนักติดต่อกันยาวนาน แต่จะไม่มีพายุลมหมุนให้เห็นอย่างชัดเจน
ภาพจาก : AFP
2 พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone)
พายุหมุนเขตร้อน เป็นพายุลมหมุนให้เห็นได้ชัดเจน มักเกิดใกล้เส้นศูนย์สูตร โดยจะเกิดขึ้นเมื่อมีหย่อมความกดอากาศต่ำและเกิดขึ้นบริเวณผิวน้ำทะเลหนือใกล้กับมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 27 องศาฯ ซึ่งพายุกลุ่มนี้จะก่อตัวเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่ เกิดขึ้นพร้อมลมที่พัดรุนแรงมาก ซึ่งทิศทางการหมุนของพายุเมื่อเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตรจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา แต่หากเกิดใกล้เส้นศูนย์สูตรหรือโซนซีกโลกใต้จะหมุนวนตามเข็มนาฬิกา โดยพายุหมุนเขตร้อนแบ่งตามความรุนแรงได้ดังนี้
ภาพจาก : AFP
- พายุดีเปรสชัน (Tropical Depression) ถือเป็นพายุที่มีความเร็วลมต่ำที่สุดในบรรดาพายุหมุนเขตร้อน โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางไม่เกิน 63 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งลักษณะของกลุ่มเมฆจะหมุนวนเป็นวงกลมแต่ไม่เป็นเกลียวและไม่มีตาพายุชัดเจน และไม่มีลมแรงพอในการพังบ้านเรือน แต่ฝนอาจตกหนัดจนทำให้เกิดน้ำท่วม
ภาพจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา
- พายุโซนร้อน (Tropical Storm) ถือเป็นพายุที่เกิดขึ้นในทะเลเคลื่อนที่เข้าหาฝั่งและจะมีความกดอากาศต่ำกว่าเดิมซึ่งจะทำให้ความเร็วลมเพิ่มขึ้น มีลมกรรโชกแรงพอจะพังบ้านเรือนที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรง และทำให้มีฝนตกหนักมากขึ้น โดยมีความเร็วลมไม่เกิน 118 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเริ่มเห็นเกลียวแขนของพายุ
ภาพจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา
ไต้ฝุ่น (Typhoon) หรือ เฮอริเคน (Hurricane) ถือเป็นพายุที่มีคามเร็วลมสูงมากขึ้น มีตาพายุชัดเจน ซึ่งบริเวณศูนย์กลางของตาพายุจะฟ้าโปร่ง มีฝนปรอยและลมสงบ แต่บริเวณรอบนอกของพายุจะมีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง เกิดน้ำท่วมฉับพลัน บ้านเรือนปลิวหรือพังถล่มเสียหาย และก่อให้เกิดอันตรายต่อการเดินเรือเป็นอย่างมาก
ภาพจาก : AFP
3 พายุทอร์นาโด (Tornado)
พายุทอร์นาโด หรือพายุงวงช้าง เกิดจากการปะทะกันระหว่างลมร้อนและลมเย็น ซึ่งโดยปกติแล้วมักพบในทวีปอเมริกาเหนือ เนื่องจากมีความแตกต่างของสภาพอากาศมากกว่า และมากกว่า 90% ของพายุกลุ่มนี้เกิดขึ้นบนบก ซึ่งลักษณะของพายุจะมีเกลียวงวงช้างให้เห็นอย่างชัดเจน มีลมแรงที่สามารถยกสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ หรือสิ่งที่มีน้ำหนักไม่มากนักให้ลอยขึ้นได้ โดยการก่อตัวของพายุทอร์นาโดจะเกิดอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่จะคงตัวอยู่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะสลายตัวไปเมื่ออุณหภูมิใกล้เคียงกัน โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นและความไม่แน่นอนของสถานที่จึงทำให้ถือเป็นกลุ่มพายุที่อันตรายมากที่สุด
พายุทอร์นาโดมักเกิดขึ้นในทุกทวีปและหลายประเทศ แต่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะพบได้บ่อยกว่าที่อื่น เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ก่อให้เกิดลมร้อนและไอเย็นปะทะบริเวณทุ่งราบ โดยเฉพาะตั้งแต่รัฐเทกซัสไปจนถึง รัฐเซาท์ ดาโกตา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ช่องทางทอร์นาโด”
ภาพจาก : AFP
พายุที่เข้าประเทศไทย คือพายุอะไร
ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก จึงทำให้ประเทศไทยเกิดพายุดีเปรสชันเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากพายุได้อ่อนกำลังลงก่อนเข้าประเทศไทย ขณะที่พายุโซนร้อนหรือพายุไต้ฝุ่นมักมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยได้น้อยมาก
พายุในประเทศไทยเกิดเมื่อไหร่
พายุแต่ละลูกจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยในเดือนตุลาคมจะเป็นเดือนที่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมากที่สุด
ภาพจาก : AFP
สามารถแบ่งบริเวณพายุได้อย่างไร
- พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) เป็นชื่อพายุหมุนที่มักเกิดขึ้นทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย ประเทศญี่ปุ่น
- พายุไซโคลน (Cyclone) เป็นชื่อพายุหมุนที่มักเกิดขึ้นในมาสมุทรอินเดียเหนือ เช่น บริเวณอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับ
- พายุวิลลี-วิลลี (Willy-Willy) เป็นชื่อพายุที่เกิดขึ้นบริเวณติมอร์และทะเลตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย
- พายุบาเกียว (Baguio) เป็นชื่อพายุหมุนที่มักเกิดในหมู่เกาะฟิลิปปินส์
- พายุเฮอร์ริเคน (Hurricane) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่มักเกิดบริเวณทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโก
ข้อควรระวังเมื่อเกิดพายุ มีอะไรบ้าง
- ไม่ควรอยู่กลางแจ้งหรือใต้ต้นไม้ใหญ่ในเวลาที่เกิดพายุ เพราะอาจทำให้เกิดฟ้าผ่า
- งดใช้โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ที่ใช้แก๊สขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง
- ไม่ควรใส่เครื่องประดับที่ทำจากโลหะหรือถือสิ่งของที่เป็นโลหะกลางแจ้ง
- ระมัดระวังถนนลื่นและสะพานชำรุดจากการพัดของกระแสน้ำ
- ติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด
- หากอยู่ใกล้บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อป้องกันสถานการณ์ได้ทัน
ทั้งนี้ ทุกคนสามารถติดตามสภาพอากาศและการเกิดพายุได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งจะรายงานพยากรณ์อากาศและการเกิดพายุได้รวดเร็ว หรือสามารถติดตามพยากรณ์อากาศกับทาง TNN24 ได้ที่เว็บไซต์ https://www.tnnthailand.com/home/
ที่มาข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th/
ที่มาภาพ : AFP, กรมอุตุนิยมวิทยา