สธ. แนะเปิดโรงเรียน พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ แต่ถ้าเป็นห้องแอร์ มากกว่า 40 คน ไม่ควรเปิด
สธ. แนะทยอยเปิดโรงเรียน ในพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ ปลอดโรคโควิด-19 นานเกิน 28 วัน และมีการป้องกันโรค แต่ถ้ามีเด็กเกิน 40-50 ต่อห้อง เป็นห้องแอร์อยู่กันแออัดยังเป็นความเสี่ยง
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเปิดเรียนตามปกติ ว่า ต้องพิจารณาว่า โรงเรียนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ หากพื้นที่ตั้งโรงเรียนไม่มีรายงานผู้ป่วยมาต่อเนื่อง 28 วันถือว่าไม่เสี่ยงเท่าไร และโรงเรียนมีความเสี่ยงหรือไม่ เช่น โรงเรียนมีความแออัด มีจำนวนนักเรียนต่อห้องมาก และห้องเรียนติดเครื่องปรับอากาศ ถือว่ามีความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีประเด็นถกเถียงว่า จะมีการระบาดในโรงเรียนหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มบอกว่ายังไม่มีหลักฐานการแพร่ระบาดในโรงเรียนก็น่าจะเปิดได้ อีกส่วนกังวลว่าโรงเรียนจะมีความเสี่ยงหรือไม่ เพราะหลายประเทศยังกังวลเรื่องนี้ เมื่อยังไม่มีการเปิดเรียนจึงยังไม่เห็นการระบาด แต่อย่างฝรั่งเศสเปิดโรงเรียนก็ติดเลย
นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า ถ้าจะเปิดเรียนก็ต้องทยอยเปิดในโรงเรียนที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน ว่าโรงเรียนนี้สามารถจัดการทุกอย่างได้ มีการบริหารจัดการป้องกันโรคในโรงเรียน เปิดโรงเรียนที่มีความเสี่ยงต่ำ มีความแออัดน้อย ตรงนี้ก็พอจะเปิดได้ ส่วนโรงเรียนในเมือง ใน กทม. ที่มีเด็กมากกว่า 40-50 คนต่อห้อง เป็นห้องแอร์ ตนไม่คิดว่าโรงเรียนพวกนี้ควรจะกลับไปสอนแบบเดิม เพราะการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลยังต้องมีอยู่ หากมีการระบาดขึ้นมาการติดตามจึงยากมาก เพราะมีอาการน้อยหรือแทบไม่มีอาการ
"อย่างโรงเรียนที่ปลอดผู้ป่วยมามากกว่า 28 วันก็สามารถเปิดได้ แต่ไม่ได้แปลว่าโรงเรียนประจำจังหวัดจะเปิดได้ ก็ต้องไปดูเรื่องความเสี่ยง เพราะโรงเรียนที่ยังกังวลเรื่องแพร่ระบาดเป็นโรงเรียนในเมืองใหญ่ เด็กจำนวนมาก อยู่กันแออัด ห้องติดแอร์ ยัดเข้าไป 50-60 คนต่อห้อง พวกนี้ควรพิจารณาหลายอย่าง โรงเรียนที่มีสมรรถภาพสูง ควรสอนเรียนออนไลน์ให้มากสุดเท่าที่จะทำได้" นพ.ธนรักษ์กล่าวและว่า การเรียนทางไกลไม่ได้แปลว่าต้องเรียนจากอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว อาจแจกงานไปให้ค้นคว้า เรียนรู้จากชีวิตประจำวันจากที่บ้านก็ยังทำได้