รีเซต

รู้จัก 'เดลตาครอน' เชื้อโควิดกลายพันธุ์ใหม่ ผสมเดลต้า-โอไมครอน ใครพูดอย่างไรบ้าง?

รู้จัก 'เดลตาครอน' เชื้อโควิดกลายพันธุ์ใหม่ ผสมเดลต้า-โอไมครอน ใครพูดอย่างไรบ้าง?
TeaC
10 มกราคม 2565 ( 14:24 )
6.3K
รู้จัก 'เดลตาครอน' เชื้อโควิดกลายพันธุ์ใหม่ ผสมเดลต้า-โอไมครอน ใครพูดอย่างไรบ้าง?

ข่าววันนี้ เดลตาครอน เชื้อโควิดกลายพันธุ์ใหม่! ที่ถูกพูดถึงและกำลังเป็นที่สนใจหลังทีมวิจัยไซปรัสพบเชื้อโควิดกลายพันธุ์ใหม่ โดยยังไม่มีสัญญาณที่น่าวิตกกังวลในขณะนี้

รู้จัก เดลตาครอน ใครพูดอย่างไรบ้าง?

 

ทั้งนี้ ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ลีออนดิโอส คอสทริคิส หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและไวรัสวิทยาระดับโมเลกุลมหาวิทยาลัยไซปรัส เป็นผู้ค้นพบไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าว โดยศาสตราจารย์คอสทริคิสให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า ไวรัสกลายพันธุ์มีลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์เดลตาและไวรัสโอมิครอนอีกบางส่วน จึงได้ชื่อว่า "เดลตาครอน"


โดยทีมวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ จำนวน 25 รายการในไซปรัส หลังจัดลำดับพันธุกรรม 1,377 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการติดตามการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ในไซปรัส

อย่างไรก็ตาม ความถี่ของการกลายพันธุ์มีแนวโน้มสูงในหมู่ผู้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งอาจแปรความได้ว่า เดลตาครอนมีความเชื่อมโยงกับการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ขณะนี้เดลตาครอนยังไม่น่ากังวล

 

หมอเฉลิมชัย แนะฟังหูไว้หู "เดลตาครอน" มีจริงหรือไม่ 

สำหรับประเทศไทย นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" โดยระบุว่า

 

"ฟังหูไว้หู !! ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Deltacron มีจริงหรือไม่ จะต้องติดตามข้อมูลเพิ่มเติมกันต่อไป

ขณะนี้มีรายงานข่าวเบื้องต้น จากสำนักข่าวต่างประเทศบางแห่ง ว่าพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือเป็นสายพันธุ์เดลต้า แต่มีสารพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาปน ทำให้ตั้งชื่อใหม่เป็นไวรัส Deltacron : Delta+Omicron ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการยืนยันจากหน่วยงานระหว่างประเทศ หรืออย่างน้อยรอให้องค์การอนามัยโลกออกมารับรองเสียก่อน

 

แหล่งข่าวดังกล่าวได้ อ้างถึง Professor L.Kostrikis ศาสตราจารย์ทางด้านชีววิทยาของมหาวิทยาลัยไซปรัส ซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนใกล้กับตุรกี ว่าเป็นผู้ค้นพบไวรัสและตั้งชื่อใหม่ว่า Deltacron โดยอ้างว่าพบแล้วถึง 25 ราย แต่ก็บอกด้วยว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกถึงความสามารถด้านต่างๆทั้ง 3 มิติของไวรัสใหม่นี้ รวมทั้งได้ส่งข้อมูลไปที่ GSAID ซึ่งเป็นแหล่งรวมรหัสสารพันธุกรรมของไวรัสระดับโลกแล้ว

 

ในขณะเดียวกัน Professor T.Peacock นักไวรัสวิทยาจากคอลเลจลอนดอน ( U. College London ) ได้ให้ความเห็นว่า จากลักษณะของสารพันธุกรรมดังกล่าว น่าจะเป็นการปนเปื้อนระหว่างการถอดรหัสไวรัสในห้องปฏิบัติการ และไม่ค่อยจะเหมือนไวรัสสายพันธุ์ใหม่มากนัก โดยมีลักษณะเป็นไวรัสเดลตาเดิมเป็นหลัก แล้วมีสารพันธุกรรมบางส่วนของโอมิครอนเข้าไปปน การปนเปื้อนในห้องปฏิบัติดังกล่าว ถึงแม้จะไม่ได้พบบ่อยนัก แต่ก็สามารถพบได้

 

Professor Peacock กล่าวว่า การแข่งกันรายงานเพื่อเป็นเจ้าแรกของสำนักข่าวต่างๆ อาจจะทำให้สาธารณะเข้าใจคลาดเคลื่อนได้

 

ผู้เขียนคิดว่า เรื่องนี้ต้องฟังหูไว้หูในเบื้องต้น เพราะการแถลงจากนักวิทยาศาสตร์เพียงคนเดียว และยังไม่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานในระดับนานาชาติที่เชื่อถือได้ อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ถ้ายืนยันแล้วว่าเป็นจริงในภายหลัง ก็จะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว จะมีความสามารถในการแพร่ระบาด  มีความรุนแรงในการเกิดโรค และการดื้อต่อวัคซีนมากน้อยเพียงใด

 

แต่ในขณะนี้ควรรอฟังความชัดเจน และการยืนยันจากหน่วยงานในระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งเสียก่อน"

 

ยันไทยไม่มี 'เดลตาครอน' นักวิชาการชี้ไม่มีรายงานในถังข้อมูลโควิดโลก


จากกรณีที่สื่อต่างประเทศระบุถึง รายงานทีมนักวิจัยในสาธารณรัฐไซปรัส พบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ เป็นการผสมผสานพันธุกรรมระหว่างสายพันธุ์เดลต้ากับสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งชื่อว่า เดลตาครอน (Deltacron) พบผู้ติดเชื้อแล้ว 25 ราย นั้น


เมื่อวันที่ 9 มกราคม ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ติดตามในฐานข้อมูลกลางโควิด-19 โลก หรือ จีเสส (GISAID) ยังไม่พบรายงานดังกล่าว เพียงแต่เห็นข้อมูลส่งต่อในสื่อโซเซียลต่างๆ ทั้งนี้ การส่งข้อมูลเข้า GISAID จะต้องเป็นข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพและได้รับการยืนยัน โดยจะมีหน้างานที่ควบคุมคุณภาพรหัสพันธุกรรมก่อนส่งเข้าไปในฐานข้อมูลกลาง


“เชื่อว่าเร็วๆ นี้ คงจะทราบแน่ชัดว่ามีการเกิดขึ้นของลูกผสม หรือไฮบริดระหว่างเดลต้ากับโอมิครอน หรือที่ระบุชื่อกันว่า เดลตาครอน หรือไม่ หากมีจริง จะถือเป็นตัวแรกของโลกที่เป็นลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกัน” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวและว่า  ที่ผ่านมา มีข้อมูลส่งเข้าจีเสส กว่า 6 ล้านตัวอย่าง ก็ยังไม่เคยระบุว่ามีลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกัน


ทั้งนี้ ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า เท่าที่ติดตามข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ขณะนี้มีทั้งระบุว่าเป็นลูกผสมหรือบางส่วนระบุว่าเป็นเพียงการมี 2 สายพันธุ์ ในคนเดียวกัน แต่ไม่ใช่ลูกผสม ซึ่งประเทศไทยก็เคยเกิดกรณีแคมป์คนที่พบคนหนึ่งมีทั้งสายพันธุ์แอลฟาและเดลต้าในเวลาเดียวกัน เป็นไปได้ แต่มีไม่มาก ส่วนที่ระบุพบเดลตาครอนถึง 25 ตัวอย่าง ก็ยังน่าสงสัย เพราะการเกิดลูกผสมหากเกิดขึ้นจริง คงเกิดได้ไม่มาก อย่างไรก็ตาม ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง


“เทคนิคการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสมีการถอดทั้งแบบสายสั้น ซึ่งสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ประมาณ 300 ตำแหน่ง และแบบสายยาวสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ถึง 2,000-3,000 ตำแหน่ง การถอดแบบสายสั้นอาจจะได้ข้อมูลไม่จำเพาะ บางครั้งตัวอย่างที่ส่งตรวจอาจจะมีการปนเปื้อนของเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ ทำให้การวิเคราะห์ผิดพลาดได้ แต่หากเป็นการถอดสายยาว เช่น ที่ศูนย์จีโนมฯ ก็ใช้วิธีนี้ จะสามารถแยกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใดที่ชัดเจน รวมถึงเป็นลูกผสมหรือไม่ หรือเกิดจากการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการวิจัยหรือไม่” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าว


ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังไม่มีข้อมูล ขอเวลาตรวจสอบก่อนว่า เป็นข่าวจริง หรือรายงานอย่างเป็นทางการหรือไม่ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์ฯ มีการติดตามข้อมูลจากทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา


“ขอให้ทุกคนใจเย็น ไม่อยากให้ตื่นตระหนกเกินไป” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า กรณีมีนักวิชาการระบุว่า การรายงานสายพันธุ์โอมิครอนของไทยต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น เรื่องนี้ได้อธิบายไปหลายครั้งแล้วว่า สัดส่วนการรายงานเชื้อโอมิครอน มีทั้งสูงและต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเราตรวจหาเชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคน ก็จะมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ส่วนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ไม่ได้ตรวจหาสายพันธุ์ทุกคน จะใช้วิธีการสุ่มตรวจ


“ดังนั้น เราจะวางระบบการสุ่มตรวจ เพื่อที่จะดูสัดส่วนของการระบาดของสายพันธุ์ให้ชัดเจนขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด แนวทางการป้องกันตัวเองก็เหมือนเดิมคือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง” นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

 

โฆษก รบ.ยันอีกเสียง 'เดลตาครอน' ยังไม่ชัดเจน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จากกรณีของความห่วงกังวลเกี่ยวกับการพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ในสาธารณรัฐไซปรัส ที่มีการตั้งชื่อว่า “เดลตาครอน” (Deltacron) ซึ่งเป็นการผสมผสานพันธุกรรมระหว่างสายพันธุ์เดลต้ากับสายพันธุ์โอมิครอน และพบผู้ติดเชื้อแล้ว จำนวน 25 ราย นั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลรายงานที่เป็นทางการออกมา อย่างไรก็ดี ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการติดตามข้อมูลจากทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้

 

นายธนกรกล่าวว่า ขณะเดียวกัน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม จำนวน 25 ตัวอย่าง จากฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” ซึ่งทางไซปรัสได้อัพโหลดไว้ มาวิเคราะห์และพบว่ารหัสพันธุกรรมทั้ง 25 ตัวอย่างบ่งชี้ว่าเป็นสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของโอมิครอนเข้ามาระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรม ทั้งนี้ ขอย้ำว่าข้อมูลดังกล่าวยังคงไม่ชัดเจน จึงอาจต้องใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูลสักระยะ

 

นายธนกรกล่าวว่า นอกจากนี้ จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสระดับโลก ชี้ว่า กรณีการพบเชื้อสายพันธุ์ลูกผสมดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดจากการปนเปื้อนระหว่างสายพันธุ์เดล ต้ากับสายพันธุ์โอมิครอนภายในห้องปฏิบัติการ เนื่องจากตัวอย่างทั้งหมดไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกัน ขณะนี้ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดเกี่ยวกับกรณีการพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ “เดลตาครอน” จึงขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตระหนกตกใจเกินไป พร้อมขอให้มั่นใจว่าหากเกิดสายพันธุ์ลูกผสมขึ้นจริง หน่วยงานทางการแพทย์ของไทยมีบุคลากร ความรู้ ความสามารถจะสามารถตรวจพบได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหน ขอให้ประชาชนยังคงเฝ้าระวังและป้องกันตนเองตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดเช่นเดิม

 

นักวิจัยไซปรัส ยันการค้นพบ ‘เดลตาครอน’ เป็นของจริง

วันเดียวกันสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้าง ลีโอไนดอส โคสไตรคิส ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา มหาวิทยาลัยไซปรัส นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบเชื้อไวรัสโควิด-19สายพันธุ์ลูกผสม “เดลตาครอน” ที่ออกมายืนยันว่า การค้นพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาครอนนั้นเป็นเรื่องจริงและไม่ได้เป็นผลของการ “ปนเปื้อน” ในห้องแล็บอย่างที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนออกมาให้ข่าวก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

 

โคสไตรคิส ยืนยันว่า ตนพบกระบวนการกดดันทางวิวัฒนาการ (evolutionary pressure) ที่เกิดขึ้นกับเชื้อสายพันธุ์ตั้งต้นทำให้เกิดการกลายพันธ์ และไม่ใช่ผลของการรวมกันของยีนที่ทำให้เกิดสายพันธุ์ลูกผสมเพียงเหตุการณ์เดียว นอกจากนี้ เดลตาครอน ยังพบมากใหม่กลุ่มผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวในโรงพยาบาล มากกว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาลจึงตัดข้อสันนิษฐานเรื่องการปนเปื้อนไปได้ นอกจากนี้ตัวอย่างยังถูกส่งไปตรวจสอบในหลายประเทศ และอย่างน้อยหนึ่งตัวอย่างจากอิสราเอลก็พบลักษณะทางพันธุกรรมของ “เดลตาครอน” อยู่ด้วย

 

ทั้งนี้การออกมายืนยันของโคสไตรคิส มีขึ้นหลังจากมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากองค์การอนามัยโลก และนักวิจัยจากอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน ออกมาตั้งข้อสังเกตว่าการค้นพบโควิด-19 ลูกผสมอย่างเดลตาครอนนั้นอาจไม่ใช่ของจริง และอาจเป็นเพียงการปนเปื้อนในห้องแล็บเท่านั้น

 

ที่แน่ ๆ สิ่งที่เราต้องทำทันทีคือ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง  และเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด เข็ม 1 เข็ม 2 และเข็ม 3 กันนะ

 

ข้อมูล : มติชน, ขาวสด, TNN

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง