ผู้ว่ากนอ.เข้าพบ 'สุริยะ' รับลูกนโยบายรัฐ สปีดโครงการเมกะโปรเจ็กต์
ผู้ว่ากนอ.เข้าพบ “สุริยะ” รับลูกสานต่อนโยบายรัฐ เร่งเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ย้ำโควิด-19 ไม่ฉุดงานบริการของ กนอ.หลังปรับใช้ออนไลน์ 100%
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงการเข้าเยี่ยมคารวะ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ภายหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่า การเข้าพบครั้งนี้เพื่อรับทราบกรอบนโยบายการทำงานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะที่กนอ.เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนการที่กระทรวงฯ กำหนดไว้ และเพื่อให้เกิดการต่อยอดโครงการใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจต่อไป
นายวีริศ กล่าวว่า ภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ คือ เร่งเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ตามนโยบายรัฐบาล พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการดำเนินงาน อาทิ โครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ล่าสุดการจดทะเบียนเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนรอบพื้นที่ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อ 7 เมษายนที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้ ภายในเดือนมิถุนายน 2564 และโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ตามแผนเดิมได้กำหนดก่อสร้างโครงการฯ ภายในปี 2564 และสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567 ขณะเดียวกันยังได้รายงานแผนการทำงานของตนเอง ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1.เร่งหาแนวทางดึงดูดนักลงทุน 2.สานงานต่อนโยบายสำคัญ 3.ลดความเสี่ยง เพิ่มความพร้อม รับมือด้านสาธารณูปโภค 4.ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม 5.สร้างความก้าวหน้าให้ กนอ.โดยการหาช่องทางใหม่ๆ ในการลงทุน และ 6.ส่งเสริมทักษะ พัฒนาศักยภาพบุคลากร
“ผม ได้หารือถึงกรอบการทำงานภายใต้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยที่ได้มีการรายงานเรื่องนี้ต่อประธานบอร์ด กนอ.(นายนรินทร์ กัลยาณมิตร) ที่มอบหมายให้การดำเนินงานในภาวะปัจจุบันต้องเป็นไปตามวิถีใหม่ ทั้งเรื่องการขออนุมัติ-อนุญาต เอกสารให้กับผู้ประกอบการ ซึ่ง กนอ.ได้ดำเนินการปรับรูปแบบการให้บริการเป็นระบบออนไลน์ 100 % ทั้งระบบตั้งแต่การติดต่อขอเอกสารจนถึงขั้นตอนการอนุญาต โดยใช้ระบบลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ในการดำเนินงานได้จริงเข้ามาช่วย ตลอดจนสร้างความสะดวกรวดเร็วให้ผู้ประกอบการที่ติดต่อมายัง กนอ.ไม่ต้องผ่านหลายขั้นตอน เพราะ กนอ.มีการดำเนินงานในรูปแบบของการให้บริการเบ็ดเสร็จเพียงจุดเดียว ” นายวีริศกล่าว