"สิระ" เจอหลายดอก สภาสั่งเรียกเงินคืนเกือบ 8 ล้าน หลังถูกศาลรธน.ฟันพ้นส.ส. จับตา "พปชร.-กกต."เจอหางเลข
“สิระ” เจอหลายดอก สภาสั่งเรียกเงินคืนเกือบ 8 ล้าน หลังถูกศาลรธน.ฟันพ้นส.ส. จับตา “พปชร.-กกต.”เจอหางเลข-บกพร่องตรวจสอบคุณสมบัติ
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส. เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลง จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวัน ในคดีความผิดฐานฉ้อโกงนั้น
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สำนักการคลัง สภาผู้แทนราษฎร กำลังตรวจสอบเพื่อเรียกคืนเงินเดือนและรายได้ทั้งหมดของนายสิระที่ได้จากสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 ได้แก่ 1.เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 113,560 บาท ตั้งแต่วันที่ 24 เดือนมีนาคม 2562 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2564 2.เงินเดือนผู้ช่วยส.ส.ของนายสิระ จำนวน 7 คน ตั้งแต่ 15,000-20,000 บาท 3.ค่าเบี้ยประชุม-ค่าเดินทางต่างๆของนายสิระระหว่างดำรงตำแหน่งส.ส. ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมว่ามีจำนวนเงินจ่ายให้นายสิระไปทั้งหมดเท่าใดจะส่งหนังสือให้นายสิระรับทราบ เพื่อคืนรายได้ทั้งหมดที่ได้ไปให้สภาฯต่อไป ทั้งนี้จากการรวบรวมค่าใช้จ่ายทั้ง 3 ส่วนคร่าวๆประมาณ 8 ล้านบาท
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ในส่วนของนายสิระ ได้มี พรป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 กำหนดไว้ชัดเจนว่ามีความผิด มีโทษทางอาญาและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อีกทั้งจะต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น
ในส่วนของพรรคการเมืองนั้นมี พรป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 กำหนดความผิดกรณีหัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นเท็จ โดยมีโทษทางอาญาและอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กรณีพรรคการเมืองจะต้องรับผิดชอบอย่างไรหรือไม่คงจะต้องมีการพิสูจน์กันว่าพรรคการเมืองนั้นได้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติของสมาชิกผู้สมัครโดยรอบคอบรัดกุมหรือไม่เพียงไร
ขณะที่ในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นเรื่องของผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง มีหน้าที่ตรวจสอบทั้งในขั้นตอนสมัครรับเลือกตั้ง และขั้นตอนก่อนประกาศผลเลือกตั้ง โดยสามารถที่จะไม่สมัครรับเลือกตั้งหรือส่งเรื่องให้กรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยก่อนประกาศผลเลือกตั้ง โดยมิได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครไว้โดยตรง กรณีที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นความบกพร่อง ขาดข้อมูลในการตรวจสอบขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งๆที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลของทางราชการ หาได้ไม่ยาก โดยส่วนตัวเราคงจะไม่ไปร้องเรียนกล่าวหาบุคคลหรือพรรคการเมืองใดว่ามีความผิดฐานใดอย่างไรเพราะข้อเท็จจริงก็ชัดเจนอยู่แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของกกต.ที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยหาผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย ตามอำนาจหน้าที่ของกกต.ต่อไป