ระดมผู้เชี่ยวชาญ สู้โควิด-19 ย้ำมาตรการคุมโรคของไทยมาถูกทางแล้ว
วันนี้ (19 มี.ค.63) ที่กระทรสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เชิญ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ในหลากหลายสาขา มารวมหารือ สถานการณ์โควิด-19 เช่น ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ โดยได้มีการตั้งเป็นที่ปรึกษาโรคอุบัติใหม่ โดยมีรองนายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในส่วนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ในการควบคุมโรค มีความพร้อมทุกเรื่อง ถ้าพี่น้องให้ความร่วมมือด้วย พวกเราจะผ่านโควิด-19 ไปกันได้ ตอนนี้ มีการระดมสมองจากทุกภาคส่วน มีการร่วมผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดไว้ที้นี้ ขอให้ทุกคนมั่นใจ ย้ำ ไม่มีความขัดแย้งใดๆ ทุกอย่างที่ทำเป็นหลักที่พิสูนจ์ได้ทางวิทยาศาสตร์ ขณะที่ เวชภันฑ์ต่างๆ เราเตรียมพร้อม จากที่ผ่านมาได้มีการประสานทางการจีนแล้ว
ด้าน ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มองถึง สถานการณ์ในไทยว่า ตอนนี้เราดำเนินการมาตรการมาถูกทาง ตั้งแต่ระยะแรก คือ การป้องกัน เราป้องกันได้ดีพอสมควร ต่อจากนี้ สถานพยาบาลต่างๆ ต้องเตรียมพร้อม เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยเริ่มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากทุกคนช่วยกัน ร่วมมือ มีวินัย ในการดูแลสุขภาพตัวเอง ถือเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกัน
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ อดีตคณะบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มองว่า การติดเชื้อเพิ่มตอนนี้ มาจากคนที่ติดเชื้อแล้ว แต่ไม่แสดงอาการ รวมถึงมีอาการน้อยมาก แต่ยังไม่วินัยดูแลตัวเอง ยังออกมาทำกิจกรรมทางสังคม ซึ่งมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ที่ลดการรวมตัวของประชาชน เพื่อลดการเคลื่อนย้ายประชาชน และให้อยู่กับที่ ออกมาทำกิจกรรมข้างนอกเท่าที่จำเป็น ให้อยู่กับบ้าน ถือเป็นการป้องกัน ควบคุมโรคได้ดีที่สุด
ในสถานการณ์ ตอนนี้ ขอให้ประชาชน อดทน ในมาตรการที่รัฐ และกระทรวงสาธารณสุข ต่างๆ เนื่องจากหากไม่ทำตอนนี้ จะทำให้บ้านเมืองเรา เสียหายมากกว่านี้โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจ และสุขภาพ และหากยังคงเข้มในมาตรการ จำกัดคนตอนนี้ จะทำให้เราไม่ก้าวเข้าสู่ ระยะ 3
ขณะที่ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ฯ จุฬา กล่าวว่า เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นแล้ว โอกาสที่จะทำให้โรคนี้หายไปในระยะเวลาอันสั้นคงยาก โดยอาจจะอยู่ไปอีกสักระยะ และมองว่า มาตรการต่างตอนนี้ที่ไทยกำลังทำ คือ พยายามกดสถานการณ์ระยะ 2 ไว้ ยังไม่ให้เข้าสู่ระยะที่ 3 เพื่อระหว่างนี้ จะได้เตรียมมาตรการต่างๆ ออกมารองรับให้พร้อมทั้งยา เวชภัณฑ์ สถานพยาบาล
ทั้งนี้ เข้าใจในความกลัวของทุกคน แต่ขอให้สบายใจ และอยากทำความเข้าใจ ว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ร้อยละ 80 อาการน้อยมาก และร้อยละ 4 ผู้ป่วยอยู่ในขั้นวิกฤติ โดยในกลุ่มผู้ป่วยวิกฤต มาจากกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย ตั้งแต่ความดัน เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ โดยกลุ่มเสี่ยงนี้ หากป่วยแพทย์จะรีบให้ยาต้านไวรัสก่อน ส่วนผู้ป่วยในกลุ่มอื่น ให้ยารักษาตามอาการ ขณะที่ เด็กต่ำกว่า 20 ปี อัตราการเสียชีวิตน้อยมาก แต่อย่างสถานการณ์ในประเทศอีตาลี ที่เห็นว่า มีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากสังคมอิตาลี ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ
นพ.ยง ยังกล่าวอีกว่า เชื่อว่าอนาคตหากทุกคนเข้าใจจะรู้ว่าเมื่อติดเชื้อแล้ว มีอาการน้อย ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เพียงแต่สามารถรักษาด้วยการกินยาตามแพทย์บอกที่บ้านได้ จะทำให้โรงพยาบาลถูกแบ่งสัดส่วน ในการรักษาผู้ป่วยหนัก สิ่งสำคัญ ที่เราจะสู้กับโควิด-19 ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ทั้งในการรักษา วิธีการป้องกันที่ทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคนเข้าใจ ป้องกันตัวเองให้ได้มากที่สุด
นพ. ไพจิตร วราชิต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เมื่อเกิดโรคระบาด ทิศทางการควบคุมโรค จะมี 3 ทิศทาง คือ เริ่มตั้งแต่ ปล่อยให้มีการระบาดในประเทศ การหน่วงโรค เพื่อชะลอ ไม่ให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง เหมือนการสร้างฝายน้ำให้น้ำค่อยๆ ผ่านไป และสุดท้าย ทิศทางการปิดประเทศ
ขณะนี้ มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการอยู่ คือ การหน่วงโรคให้ได้นานที่สุด เพื่อให้มีความพร้อมรองรับผู้ป่วย ไม่เช่นนั้น หากมีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยอย่างรวดเร็วก็จะทำให้เรามีทรัพยากรไม่เพียงพอ ซึ่งนักวิชาการได้ร่วมประเมินสถานการณ์กับกระทรวงสาธารณสุข ทุก 2 สัปดาห์ ยอมรับว่า การระบาดโควิด-19 ทำให้คนตกใจ มากกว่า เมื่อครั้งการเกิดโรคระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เสียชีวิตกว่า 100 ราย เพราะปัจจุบันไม่ได้มีแค่สื่อหลัก แต่มีสื่อออนไลน์
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชน รับผิดชอบต่อสังคม ในช่วงการควบคุมโรค พยายามอยู่บ้าน และทิ้งระยะห่างคนใกล้ชิด และพยายาม ไม่ให้ผู้สูงอายุออกจากบ้าน หรือ ลดการออกจากบ้านให้ได้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และย้ำว่ามาตรฐานการควบคุมโรค ที่รัฐได้ดำเนินการมาถูกทางแล้ว
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand