รีเซต

จับคู่กู้เงิน ต่อลมหายใจ ร้านอาหาร-ภัตตาคาร

จับคู่กู้เงิน ต่อลมหายใจ ร้านอาหาร-ภัตตาคาร
มติชน
8 มิถุนายน 2564 ( 06:56 )
81
จับคู่กู้เงิน ต่อลมหายใจ ร้านอาหาร-ภัตตาคาร

 

โครงการ จับคู่กู้เงิน ประสานสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้ สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารและภัตตาคาร ที่มีอยู่กว่าแสนแห่งทั่วประเทศ เป็นกรณีพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาผู้ประกอบการที่โดนพิษโควิด-19 จนต้องทยอยปิดตัว ข้อมูลล่าสุดของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) พบว่า ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 ประเทศไทยมีผู้ประกอบการร้านอาหารในระบบรวม 118,967 ราย ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคล 15,967 ราย คิดเป็น 13.43% และบุคคลธรรมดา 103,000 ราย คิดเป็น 86.57% จากคำบอกเล่าของ ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ระบุว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารในไทยในทุกรูปแบบทั้งเปิดในห้างค้าปลีก เปิดตามอาคารสำนักงาน อาคารที่พักอาศัย สถานที่ราชการ อาคารพาณิชย์ริมถนน แผงลอยตามแหล่งท่องเที่ยว และรถสตรีทฟู้ด รวมกันแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 5 แสนร้านค้า และผู้ประกอบการร้านอาหารถือเป็นหน้าด่านแรกที่ประสบปัญหาทันที

 

 

หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่รอบแรกปี 2563 ถึงรอบ 3 ในวันนี้ สมาคมร่วมกับผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำดำรายหนึ่ง พบว่า การระบาดของโควิดรอบ 3 ทำให้ร้านค้าอาหารและเครื่องดื่มรายเล็กปิดตัวแล้ว 5 หมื่นราย เพราะขาดรายได้ ขาดสภาพคล่องในการซื้อวัตถุดิบเพื่อปรุงหรือจำหน่ายในวันต่อไป ขณะที่รายได้ไม่มีเท่ารายจ่ายหรือการจ้างงานยังต้องทำต่อในระยะแรกของการระบาดรอบ 3 ไม่มีใครคิดว่าจะยืดเยื้อและรุนแรงอย่างวันนี้ ฐนิวรรณ ระบุว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ พณ. จัดโครงการ จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหาร เพื่อลดปัญหาเรื่องการเข้าไม่ถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เมื่อมีธนาคารหลายแห่งมาให้ดูเงื่อนไขดีต่อการเลือกธนาคารหรือแพคเกจที่เหมาะสมกับเจ้าของนั้นๆ

ตอนนี้ คาดหวังให้ธนาคารรัฐที่มีงบประมาณจาก พ.ร.บ.เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจรอบแรกประมาณ 5 พันล้านบาท มาปล่อยกู้ให้ร้านอาหารอย่างแท้จริง ปลดล็อกเงื่อนไขกฎระเบียบให้ มากสุด เช่น ตอนนี้ร้านค้าไม่มีรายได้เท่าก่อนเกิดโควิด ควรใช้ฐานการเงินและประเมินการทำธุรกิจก่อนปี 2562 มาเป็นฐานการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะช่วยให้ร้านอาหารอยู่รอดได้ ก่อนหน้านี้เคยปล่อยกู้ 60% ของรายได้ที่เกิดขึ้น ตอนนี้อาจลดเหลือ 20-30% เพื่อประคองธุรกิจ ร้านอาหารแต่ละรายต้องการเงิน 2-3 แสนบาท เพื่อประคองรายจ่ายและรักษาแรงงานบางส่วน ที่สำคัญร้านอาหารต้องการให้เร่งและง่ายต่อการกู้ ไม่ใช่พิจารณาเป็นเดือนๆ ควรใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน ธุรกิจจะอยู่รอดหรือไม่ อยู่ที่ว่ารัฐหรือแบงก์จะเร่งทุกอย่างให้เร็วจริงหรือไม่ เราพบว่าหลายธนาคารยังมีเงินคงเหลือจาก พ.ร.ก.ซอฟต์โลนเป็นพันล้านบาท บางแห่งสูงถึง 3 พันล้านบาท ควรนำมาปล่อยให้ผู้ประกอบการที่เดือดร้อนจริงๆ ร้านค้าเขาไม่ได้ต้องการเงินสูงเพียงแต่ตอนนี้อาจชอร์ตชั่วคราวเพราะโควิด

 

 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ พณ. กล่าวเปิดโครงการ จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหาร วันที่ 7 มิถุนายน โดยเปิดพื้นที่ชั้น 4 สํานักงานปลัด พณ.จัดเป็นบูธให้คำแนะนำและเปิดรับการกู้ยืมของเจ้าของร้านอาหาร จากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SME D Bank) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน จุรินทร์ระบุว่า วันนี้ถือว่าเป็นการต่อสายป่านให้กับร้านอาหารภาค 2 ที่ส่วนหนึ่งอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือเรื่องเงินทุนหรือผ่อนปรนภาระหนี้สินที่มีอยู่ รวมทั้งหาแหล่งเงินกู้ โครงการ จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหาร โดยเชิญสถาบันการเงิน 5 แห่ง มาทำหน้าที่ปล่อยกู้โดยเฉพาะ โดยผ่อนปรนให้มากที่สุด ให้กับสมาชิก 7 สมาคมด้านร้านอาหาร ได้มีทางเลือก

 

 

ทั้งนี้ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ต้องการช่วยให้ร้านอาหารสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ หรือเข้าถึงสถาบันการเงินโดยมีดอกเบี้ยราคาพิเศษและปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี และเงื่อนไขผ่อนปรนอื่นๆ เพื่อให้โครงการนี้สามารถช่วยร้านอาหารได้จริงในทางปฏิบัติเพราะรัฐบาลมีวงเงินให้สถาบันการเงินเหล่านี้ในการปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจบริการรวมทั้งเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี และโครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 7-20 มิถุนายน 2564 โดยได้เชิญชวนผู้ผ่านอบรมโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ให้ความรู้กับสถาบันการเงินร่วมกับร้านอาหารที่สนใจใช้บริการสถาบันการเงินในการเตรียมตัวก่อนดำเนินการกู้เงินในโครงกรนี้ ประมาณว่าจะได้รับความสนใจกว่า 6,000 คน และผู้ประกอบการที่ได้รับข่าวสารอีกจำนวนมาก

 

 

ขณะที่เจ้าหน้าที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME D Bank) ที่เปิดบูธให้บริการ ระบุว่า ที่ผ่านมามีเจ้าของร้านอาหารมายื่นกู้ไม่ถึง 20% ส่วนหนึ่งเพราะเข้าไม่ถึงเจ้าของร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านที่มีหลายสาขา การเปิดโครงการนี้และมีการป้อนรายชื่อจากหน่วยงานหลัก จะเป็นผลดี จะได้รู้ว่าผู้ประกอบการต้องการอะไร และอะไรที่ผู้ประกอบการติดขัด แต่ก็ยอมรับว่า เงื่อนไขปล่อยกู้ อัตราดอกเบี้ย และระยะผ่อนจะใช้พื้นฐานเดียวกัน เช่น กู้ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน นิติบุคคลปล่อยวงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรก 2.875% ต่อปี ผ่อนนาน 7 ปี หากบุคคลธรรมดา กู้ได้ไม่เกิน 1-2 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4.875% ต่อปี ผ่อนนาย 7 ปี

 

 

ผู้สื่อข่าวได้สำรวจธนาคารอื่นๆ พบว่า ได้กำหนดเงื่อนไขพิจารณาและปล่อยกู้เหมือนกับที่ผ่านมา ส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกัน 2-3% คงไว้ 3 ปีแรก ผ่อนนานไม่เกิน 10 ปี และส่วนใหญ่ต้องมีหลักทรัพย์ มีบัญชีหมุนเวียน หรือค้ำประกันโดยสมาคมหรือสมาชิกสมาคม เมื่อได้สอบถามผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีสาขาในห้างรายหนึ่ง เคยมีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ต้องหยุดเปิดบริการเพียง 25-30% เพราะจำนวนผู้เข้าร้านต่ำมาก เพราะความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ระบุว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ พณ. ออกมาเป็นตัวกลาง จัดพบปะธุรกิจกับธนาคาร แต่ก็น่าเสียดายที่เป็นการใช้เงื่อนไขเดิมๆ ที่จะใช้การพิจารณา ซึ่งจำนวนไม่น้อยเคยยื่นขอกู้เงินหรือใช้สิทธิซอฟต์โลนของภาครัฐ แต่ไม่ได้

 

 

อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยหวังว่าจะสามารถเข้าถึงซอฟต์โลนรอบใหม่ได้ แม้ว่าซอฟต์โลนครั้งที่ผ่านมาจะไม่ได้รับการพิจารณา ร้านอาหารเหล่านี้หวังว่าเงินซอฟต์โลนดังกล่าว จะช่วยให้ฟื้นฟูธุรกิจ ทำให้ร้านอาหารต่างๆ ดำเนินกิจการอยู่ต่อไปได้ ไม่มีใครอยากเห็นตัวเลขการปิดร้านอาหารใน 1-2 เดือนนี้ทะลุเป็นแสนๆ ร้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง