คกก.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้มมาตรการ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ”ช่วงปีใหม่
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 ภายใต้แนวคิด “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง จากการดื่มแล้วขับ เนื่องจาก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ทั้งกับตัวผู้ดื่มและผู้อื่น จากข้อมูลของศูนย์อำนวยการความปลอดภัย ทางถนน พบว่า การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2567 มาจากการเมาแล้วขับเป็นสาเหตุการตาย อันดับสองรองจากความเร็ว ส่วนรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ และจากข้อมูลจากระบบรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
กระทรวงสาธารณสุข (PHER plus) พบว่า จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 (ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.2566 – 4 ม.ค. 2567) มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 25,830 ราย และเสียชีวิต 374 ราย สาเหตุจากการดื่มแล้วขับ 4,777 ราย โดยเป็นเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 569 ราย
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ในปีนี้รัฐบาลได้มีการกำหนดแนวทางควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 โดยเน้นย้ำมาตรการ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางท้องถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ให้ประชาชนเดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัย เตรียมการจัดรณรงค์ประชาสัมพันธ์ โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านค้า ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เด็ดขาด และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุกประเภท (โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม) รวมไปถึงการคัดกรองผู้ดื่มสุรา ณ ด่านชุมชน เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงระดับชุมชน และ“ด่านครอบครัว”เน้นย้ำให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานและคนในครอบครัว ไม่ให้ดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ ส่งเสริมบทบาทให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่ด่านชุมชน ดำเนินการเรียกตรวจเพิ่มขึ้น เพื่อสกัดกั้นคนเมา
ที่ผ่านมา ณ ด่านชุมชน ไม่ให้ขับขี่ยานพาหนะ มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น มุ่งเน้นลดอุบัติเหตุทางถนน หากตรวจพบผู้ขับขี่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่ากฎหมายกำหนด ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนขยายผล ทุกกรณี
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร/จังหวัด ดำเนินการตามแนวทางฯ ร่วมกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนจังหวัด และมอบหมายอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวต่อไป