"สศค."เร่งประเมินความเสี่ยง"การคลัง"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการประเมินความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาล โดยการจัดเก็บรายได้ยังคงต่ำกว่าก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19
โดยมีประเด็นความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลควรเร่งรัดทยอยลดระดับการขาดดุลในระดับสูงอย่างจริงจัง เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ทางการคลังสำหรับรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง รวมถึงวิกฤติต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ สัดส่วนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปีงบประมาณ 67 อยู่ที่ร้อยละ 15.06 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด สำหรับมุมมองความเสี่ยงในอนาคตคาดว่า อาจมีปัจจัยกดดันต่อเนื่อง ที่สำคัญจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดรถยนต์ รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงกว่าที่ประมาณการไว้
สำหรับความเสี่ยงด้านรายจ่ายยังคงมีปัจจัยกดดันจากรายจ่าย เพื่อชำระหนี้และภาระผูกพันและรายจ่ายด้านสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในส่วนของรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง รายจ่ายชำระดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ส่งผลให้ภาพรวมรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11.40 จากปีงบประมาณ 66
ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆดังกล่าวในอนาคต การเร่งรัดลดระดับการขาดดุลกลับสู่ระดับปกติที่ไม่เกินประมาณร้อยละ 3 ของจีดีพีจากปีงบประมาณ 68 ที่ขาดดุลร้อยละ 4.4 ของจีดีพีเพื่อฟื้นฟูพื้นที่การคลังรองรับวิกฤติ รวมถึงผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญผ่านการดำเนินการ คือ การปฏิรูปโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้รัฐบาล พร้อมทั้งทบทวนมาตรการยกเว้น/ลดหย่อนต่างๆให้มีเท่าที่จำเป็น
เพื่อให้รัฐบาลยังคงสามารถจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เพียงพอสำหรับรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนต่างๆที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยไม่เบียดบังรายจ่ายลงทุน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนในระยะยาว