รีเซต

"อัศวิน"เคลียร์ชัดรถไฟฟ้าสายสีทอง เอกชนลงทุนเองหมด 3 พันล้านแล้วยกให้ กทม. รัฐไม่ได้ออกสักบาท

"อัศวิน"เคลียร์ชัดรถไฟฟ้าสายสีทอง เอกชนลงทุนเองหมด 3 พันล้านแล้วยกให้ กทม. รัฐไม่ได้ออกสักบาท
มติชน
27 พฤศจิกายน 2563 ( 14:07 )
150

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องรถไฟฟ้าสายสีทอง ที่กำลังจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมนี้ว่าใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน เอื้อประโยชน์ให้เอกชน ว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นโครงการที่เอกชนลงทุนสร้างเองทั้งหมด ด้วยงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ไม่ได้ใช้เงินจากรัฐเลย ผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริงคือประชาชน

 

 

“เอกชนสร้างเอง ลงทุนเอง เราไม่ได้เสียอะไรเลย เราได้ฟรี ประชาชนได้ฟรี เขาลงทุนไปถึงเกือบ 3 พันล้านบาท ตอนแรกเขามาถามความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนสร้าง แต่เราบอกว่าเราไม่มีเงิน เราไม่สร้างหรอก เขาก็บอกจะออก 2,000 ล้านบาท แต่เราบอกไม่ คุณจะสร้างเท่าไหร่ก็เรื่องของคุณ เราไม่เติมให้คุณหรอก แต่เราเห็นประโยชน์ที่จะไปถึงประชาชน กทม.เป็นคนเดินรถ ถ้าขาดทุน คุณต้องเติมค่าใช้จ่ายให้เราด้วยนะ ผมยืนยันว่ามันขาดทุนแน่นอน เพราะวิ่งแค่ 3 สถานี สมมติว่าวันหนึ่งขาดทุน 3,000 บาท เดือนละ 90,000 บาท คุณก็ต้องมาเติมให้เรา เราไม่ออกเลย ดังนั้น เชื่อผมเถอะ ผมยืนยันว่าขาดทุน แต่ประชาชนได้ประโยชน์”พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีทองเป็นโครงการที่กทม.ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เริ่มก่อสร้างปี 2561 จะเปิดให้บริการวันที่ 16 ธันวาคมนี้ มีระยะทางรวม 2.75 กิโลเมตร(กม.) จำนวน 4 สถานี วิ่งตามแนวถนนกรุงธนบุรี ถนนเจริญนคร และถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน การดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ระยะ ปัจจุบันเป็นการดำเนินการระยะที่ 1 ระยะทาง 1.80 กม.ประกอบด้วย สถานีกรุงธนบุรี (G1) สถานีเจริญนคร (G2) และสถานีคลองสาน (G3) อัตราค่าโดยสาร 3 สถานี 15 บาท

 

ระบบรถไฟฟ้าเป็นระบบ Automated Guideway Transit (AGT) หรือระบบขนส่งมวลชนแบบนำทางอัตโนมัติ หรือระบบ Automated People Mover (APM) เป็นระบบล้อยาง โดยรถที่นำมาใช้เป็นรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM 300 ความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม จำนวน 3 ขบวนๆ ละ 2 ตู้ ความจุผู้โดยสาร 138 คน/ตู้ โดยตู้รถไฟฟ้ามีความกว้าง 2.8 มตร ความยาว 12.75 เมตร ความสูง 3.5 เมตร ประตูมีความกว้าง 19 เมตร ความสูงของพื้นรถ 1.1 มตร คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารเมื่อเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 42,000 เที่ยว คน/วัน.

 

โครงการนี้ กทม.มอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เป็นผู้ดำเนินการ ไม่ได้ใช้งบประมาณของภาครัฐ เป็นรูปแบบความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนากรุงเทพฯไปด้วยกัน จึงทำให้โครงการเกิดขึ้นได้เร็ว ไม่ต้องรอกระบวนการวิธีงบประมาณจากภาครัฐ และทรัพย์สินในโครงการนี้ยังเป็นกรรมสิทธิของ กทม.ทั้งหมด ซึ่งโครงการนี้ เป็นความตั้งใจดีที่ กทม. มอบให้แก่ประชาชน


………

ข่าวที่เกี่ยวข้อง