รีเซต

ไทยเจอ 2 เด้ง ทั้งพายุ-มรสุม ‘อุตุฯ’ คาดรุนแรงใกล้ ‘โนอึล-เตี้ยนหมู่’ ตั้งวอร์รูมรับมือ 28 ก.ย.-1 ต.ค. หนัก

ไทยเจอ 2 เด้ง ทั้งพายุ-มรสุม ‘อุตุฯ’ คาดรุนแรงใกล้ ‘โนอึล-เตี้ยนหมู่’ ตั้งวอร์รูมรับมือ 28 ก.ย.-1 ต.ค. หนัก
มติชน
26 กันยายน 2565 ( 15:45 )
80

เมื่อวันที่ 26 กันยายน นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยกับ ‘มติชนออนไลน์’ ว่า เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลความกดอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุม ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน ส่งผลทำให้ร่องมรสุมกำลังแรงเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

 

นางสาวชมภารีกล่าวว่า สำหรับ พายุไต้ฝุ่นโนรู บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 16.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 118.4 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 กันยายน 2565 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชั่นตามลำดับ จากนั้นจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง

 

“คาดว่า พายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนก่อนเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเช้ามืดของวันที่ 29 กันยายน ซึ่งเมื่อประกอบเข้ากับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ที่มีกำลังแรงขึ้น ประเมินว่าจะมีความรุนแรงใกล้เคียงกับพายุโนอึลเมื่อปี 2563, พายุเตี้ยนหมู่เมื่อปี 2564 ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมาก บางแห่งกับมีลมแรง ช่วงวันที่ 28 กันยายน-1 ตุลาคม 2565 และเนื่องจากเป็นพายุที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย จึงต้องจัดตั้งศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” นางสาวชมภารีกล่าว

 

นางสาวชมภารีกล่าวว่า นอกจากนี้ ได้ตรวจพบพายุโซนร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกเกิดขึ้นอีก 1 ลูก ชื่อกุหลาบ แต่มีทิศทางการเคลื่อนตัวไปยังทิศเหนือ ทางประเทศไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งคาดว่าพายุดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

 

“ก่อนสิ้นฤดูฝนของประเทศไทย คาดว่าจะมีพายุอีก 1 ลูกในช่วงกลางเดือนตุลาคม แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า จะเคลื่อนตัวไปในทิศทางไหน เพราะต้องรอให้พายุดังกล่าวก่อตัวขึ้นก่อน จากนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาจึงจะสามารถประเมินทิศทางของพายุได้อย่างถูกต้อง โดยจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป” นางสาวชมภารีกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง