รีเซต

ส่องนโยบาย “ซอฟต์พาวเวอร์” ดัน “วัฒนธรรม” นำ “เศรษฐกิจ" ได้หรือไม่?

ส่องนโยบาย “ซอฟต์พาวเวอร์”  ดัน “วัฒนธรรม” นำ “เศรษฐกิจ" ได้หรือไม่?
TNN ช่อง16
14 ตุลาคม 2566 ( 09:29 )
152
ส่องนโยบาย “ซอฟต์พาวเวอร์”  ดัน “วัฒนธรรม” นำ “เศรษฐกิจ" ได้หรือไม่?

กลายเป็นหนึ่งในกระแสสังคมที่ถูกพูดถึงไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” สมาชิกวุฒิสภา ได้เสนอให้ใช้คำว่า “ภูมิพลังวัฒนธรรม” แทนคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) ซึ่งเป็นคำภาษาอังกฤษ เพื่อให้คนไทยเข้าใจและประสานกับต่างชาติได้



ประเด็นการเรียกชื่อ ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ เพราะมีหลายฝ่ายที่เห็นด้วยและคัดค้าน แต่สิ่งเป็นสาระสำคัญกว่าชื่อ ที่จะนำมาใช้ นั่นก็คือ นโยบายที่รัฐบาล ประกาศจะนำ “ซอฟต์พาวเวอร์”ไทย มาสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ 


การนับหนึ่งของนโยบายดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้ประชุมนัดแรก ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ฯ เข้าประชุมร่วมกับกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วน เพื่อพิจารณาและขับเคลื่อนซอฟท์พาวเวอร์ของประเทศไทย อย่างบูรณาการ 



ในที่ประชุมครั้งนั้น ได้สรุปที่จะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ใน 11 เป้าหมาย ได้แก่ อาหารไทย กีฬา ท่องเที่ยว ดนตรี ภาพยนตร์ หนังสือ เฟสติวัล เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น 


การที่จะนำจุดแข็งด้านวัฒนธรรมของไทย มานำเศรษฐกิจ และสร้างเม็ดเงินแบบมหาศาลได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องน่าติดตาม เพราะวัฒธรรมไทยถือเป็นวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมากที่สุดวัฒนธรรมหนึ่งของโลก และที่สำคัญ “แพทองธาร” การันตีว่า หากนโยบายนี้สำเร็จ จะสร้างรายได้เข้าประเทศ ถึง 4 ล้านล้านบาทต่อปี 



การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนพลังซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ถือว่าเพิ่งเริ่มตั้งไข่ มีการวางกรอบไทม์ไลน์ของการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ ออกมาเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว


โดยในช่วง 100 วันแรก หรือวันที่ 11 มกราคม 2567 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน แสดงเจตจำนงที่จะพัฒนา เพิ่มทักษะ กำหนดแผนงาน และส่งเสริมกิจกรรม เทศกาลประจำเดือนของไทย


ส่วนแผนงานระยะกลาง ภายใน 6 เดือน หรือ ภายในวันที่ 3 เมษายน 2567 จะเริ่มสร้างศูนย์บ่มเพาะ ฝึกวิชาชีพ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน จัดตั้งหน่วยงาน THACCA ( Thailand Creative Content Agency) เพื่อดูแลส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย มีอำนาจเบ็ดเสร็จ มีงบประมาณบริหารจัดการเป็นของตัวเอง 



ขณะที่แผนงานระยะยาว จะเป็นการเดินหน้านโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” ยกระดับทักษะคนไทย ให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน


เมื่อรัฐบาลเดินหน้า ที่จะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ เป็นหนึ่งในขุมพลังที่จะขับเคลื่อนประเทศ แต่นโยบายนี้ ใช่ว่าจะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ เพราะไทยต้องแข่งกับประเทศอื่นๆเช่นกัน เพราะปัจจุบันแต่ละประเทศ ก็จะมีซอฟต์พาวเวอร์ในแบบฉบับของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมต่างๆ ค่านิยมทางการเมือง วงการบันเทิง อาหาร และมาตรฐานความงาม



ในขณะที่หลายภาคส่วน หวั่นว่า นโยบายนี้จะเป็นเพียง “นโยบายฉาบฉวย” ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการหาเสียงเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาก็มีหลายๆโครงการที่เปรี้ยงปร้างในช่วงแรกๆ แล้วก็ถูกทิ้งร้างไป ปล่อยให้ประชาชน ชุมชน และภาคส่วนที่เคยมีส่วนร่วม ล้มหายไปอย่างน่าเสียดาย 


วัฒนธรรมที่เข้มแข็งของไทย จะก้าวสู่ความมั่นคงด้วยพลังสร้างสรรค์ และนำไปสู่เม็ดเงินมหาศาลได้มากน้อยเพียงใด คงต้องวัดใจกับรัฐบาลชุดนี้ว่าจะผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ 


และที่สำคัญ รัฐบาลต้องทำให้นโยบายนี้ ไม่ใช่ขายฝัน แต่สามารถสร้างเงิน สร้างงานให้กับคนไทยได้จริง



มนตรี ขัดเรือง : เรียบเรียง


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง