รีเซต

'เมียนมา' ชี้ 'ไอซีเจ' ไม่มีอำนาจตัดสิน 'คดีโรฮีนจา'

'เมียนมา' ชี้ 'ไอซีเจ' ไม่มีอำนาจตัดสิน 'คดีโรฮีนจา'
มติชน
22 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:14 )
81

ตัวแทนของรัฐบาลเมียนมา ขึ้นให้การต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในคดีที่รัฐบาลเมียนมาถูกกล่าวหาว่าเปิดปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮีนจา เมื่อปี 2017 เข้าข่ายการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” โดยโต้แย้งว่า ไอซีเจ ไม่มีขอบเขตอำนาจในการดำเนินคดีเนื่องจากขัดต่อหลักการดำเนินคดีของไอซีเจ ที่ต้องนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องโดยรัฐอย่างน้อย 2 รัฐ

 

คริสโตเฟอร์ สเตเกอร์ ทนายความตัวแทนรัฐบาลเมียนมาระบุว่า ไอซีเจ ไม่มีขอบเขตอำนาจในการดำเนินคดีนี้เนื่องจากคดีถูกยื่นเรื่องฟ้องร้องโดยประเทศแกมเบีย ซึ่งเป็นเหมือนกับหุ่นเชิดของ องค์กรความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ผู้ยื่นเรื่องฟ้องร้องตัวจริงที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ไม่ใช่รัฐ ตามระเบียบในการยื่นเรื่องฟ้องร้องของไอซีเจ

 

ด้านโก โก ลาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศเมียนมา ตัวแทนของประเทศเมียนมา ที่เข้าร่วมชี้แจงโต้แย้งผ่านทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์พร้อมกับ ธิดา อู อัยการสูงสุดเมียนมา ระบุด้วยว่า เมียนมาไม่ได้ต้องการขัดขวางกระบวนการทางกฎหมายของศาล แต่ในทางกลับกันเมียนมาจะตอบคำถามภายใต้กระบวนการทางกฎหมายที่เหมาะสม

 

ขณะที่รายงานระบุว่าแกมเบียผู้ยื่นฟ้องจะกล่าวคำแย้งตอบโต้เมียนมาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้

 

การให้การโต้แย้งของตัวแทนเมียนมามีขึ้นหลังจาก สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้รัฐบาลทหารเมียนมาเพิ่มเติมอีก 22 คน และคว่ำบาตรบริษัทอีก 4 บริษัท ในวันเดียวกันนี้ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่เมียนมาที่ถูกอียูคว่ำบาตรมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 65 คน ในจำนวนนี้รวมถึงโก โกลาย และ ธิดา อู ด้วย ขณะที่บริษัทที่ถูกอียูคว่ำบาตรเวลานี้มีจำนวนรวมเป็น 10 บริษัทแล้ว

 

ทั้งนี้แกมเบีย นำคดีนี้ฟ้องร้องต่อไอซีเจ เมื่อปี 2019 กล่าวหาว่า เมียนมาก่อคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กับชาวโรฮีนจา ในการกวาดล้างทางการทหารเมื่อปี 2017 เหตุกาณณ์ซึ่งส่งผลให้ชาวโรฮีนจากว่า 850,000 คนต้องอพยพออกจากประเทศ

 

ขณะที่นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐในฐานะผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมา เป็นตัวแทนเมียนมาขึ้นให้การกับไอซีเจมาแล้วเมื่อปี 2019 ก่อนที่นางซูจี จะถูกรัฐบาลทหารโค่นล้มลงจากอำนาจเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการประท้วงและการสลายชุมนุมรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 1,500 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง