รีเซต

ชนเผ่าล่าสัตว์-เก็บของป่า นั่งนานไม่แพ้คนเมือง แต่เพราะอะไรจึงไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ชนเผ่าล่าสัตว์-เก็บของป่า นั่งนานไม่แพ้คนเมือง แต่เพราะอะไรจึงไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
บีบีซี ไทย
19 มีนาคม 2563 ( 03:57 )
88
ชนเผ่าล่าสัตว์-เก็บของป่า นั่งนานไม่แพ้คนเมือง แต่เพราะอะไรจึงไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
Getty Images
การนั่งกับพื้น นั่งยอง ๆ หรือนั่งคุกเข่า อาจเป็นผลดีต่อสุขภาพโดยรวม มากกว่าการนั่งเก้าอี้หรือโซฟาเป็นเวลานาน

พฤติกรรมอย่างหนึ่งของคนสมัยใหม่ในเมืองใหญ่ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ก็คือการอยู่ในอิริยาบถนั่งนานเกินไปในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งติดเก้าอี้เพื่อทำงานในสำนักงาน หรือนั่งพักผ่อนดูโทรทัศน์บนโซฟาตัวโปรดที่บ้านก็ตาม

แพทย์เตือนว่าการนั่งโดยไม่เคลื่อนไหวเปลี่ยนอิริยาบถนานกว่าสองชั่วโมงครึ่ง จะทำให้การเผาผลาญไขมันเพื่อสร้างพลังงานให้แก่ร่างกายลดลง เป็นที่มาของโรคหัวใจ เบาหวาน ข้ออักเสบ และโรคอื่น ๆ ที่ทำให้อายุขัยสั้นลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเกิดความสงสัยเมื่อไม่นานมานี้ว่า เหตุใดชนเผ่าในป่าที่ใช้ชีวิตแบบบรรพกาล และยังชีพด้วยการล่าสัตว์-เก็บของป่าเป็นหลัก (hunter-gatherers) กลับมีจำนวนชั่วโมงนั่งพักที่ยาวนานไม่แพ้คนเมือง แต่ไม่มีปัญหาสุขภาพจากการนั่งนานแม้แต่น้อย

ทีมนักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (USC) ของสหรัฐฯ จึงทำการศึกษาเรื่องนี้ โดยทดลองให้สมาชิกทั้งชายและหญิงของชนเผ่าฮัซดา (Hazda) ในประเทศแทนซาเนีย ซึ่งต่างก็อยู่ในวัยเกือบ 40 ปี จำนวน 28 คน สวมใส่อุปกรณ์วัดความเร่งในการเคลื่อนไหว (accelerometer) ที่สะโพก เพื่อติดตามดูว่าพวกเขาอยู่ในอิริยาบถนั่งพักผ่อนเป็นเวลานานเพียงใดในช่วงที่ยังตื่นอยู่

Getty Images
หลักฐานใหม่ทางวิทยาศาสตร์มีแนวโน้มจะชี้ว่า ท่านั่งหรือท่านอนที่ไม่ดีซึ่งทำให้ปวดหลังหรือคอ ไม่มีอยู่จริง

ชนเผ่าฮัซดานั้นถือเป็นมนุษย์กลุ่มท้าย ๆ ที่ยังดำรงชีวิตแยกห่างจากสังคมเมืองในปัจจุบัน พวกเขาบริโภคของป่าเป็นอาหารเกือบทั้งหมด และมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจต่ำมาก ซึ่งทราบได้จากการตรวจวัดตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarker) หลายอย่าง เช่นระดับคอเลสเตอรอลและสารต่าง ๆ ในกระแสเลือด

ผลการทดลองพบว่า แม้ชนเผ่าฮัซดาจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอิริยาบถมากกว่าคนเมืองโดยทั่วไป แต่พวกเขามีจำนวนชั่วโมงที่นั่งพักยาวนานเกือบ 10 ชั่วโมงในแต่ละวัน ซึ่งเป็นตัวเลขสถิติที่ใกล้เคียงกับการนั่งของคนเมืองเลยทีเดียว

Getty Images
ชนเผ่า Hoansi ในประเทศนามิเบีย กำลังฝึกใช้หน้าไม้ล่าสัตว์

สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ ชนเผ่าฮัซดานั่งกับพื้น และมักจะอยู่ในท่านั่งอื่น ๆ ที่ยังคงใช้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้ออยู่บ้าง เช่นท่านั่งยอง ๆ หรือนั่งคุกเข่า ในขณะที่การนั่งเก้าอี้หรือโซฟาอย่างคนเมืองไม่มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้น

ศ. เดวิด ไรเคลน ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า "แม้กล้ามเนื้อจะทำงานเพียงเล็กน้อยในท่านั่งแบบชนเผ่า แต่ก็ยังต้องใช้พลังงานจากการเผาผลาญไขมันอยู่ โดยรวมแล้วจึงไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาวเหมือนการนั่งบนที่นั่งแบบต่าง ๆ "

ทีมผู้วิจัยสรุปผลการศึกษาที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร PNAS ว่า "การนั่งนานนั้นไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง แต่สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญคือวิธีการนั่งต่างหาก"

"ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยงุนงงสงสัยว่า มนุษย์มีวิวัฒนาการมุ่งไปในทิศทางที่จะประหยัดพลังงานในการใช้ชีวิตให้ได้มากขึ้น ซึ่งก็คือสามารถนั่งพักได้ยาวนานขึ้นนั่นเอง แต่สิ่งที่เป็นผลจากวิวัฒนาการนี้กลับหวนมาทำร้ายคนยุคใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันอย่างมาก"

"การทดลองนี้จึงช่วยไขความกระจ่างได้ในที่สุดว่า แนวคิดเรื่องวิวัฒนาการมนุษย์ดังกล่าวนั้นถูกต้องแล้ว แต่การพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้รวมทั้งวัฒนธรรมในหมู่คนเมืองต่างหากที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพขึ้น ดูเหมือนว่าร่างกายของมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้หยุดเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้เป็นเวลานาน ๆ ในแต่ละวัน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง