รีเซต

ทำมา 40 ปีไปต่อไม่ไหว! เจ้าของรถโดยสาร บขส.โคราช ขายรถทิ้ง ปิดกิจการถาวร

ทำมา 40 ปีไปต่อไม่ไหว! เจ้าของรถโดยสาร บขส.โคราช ขายรถทิ้ง ปิดกิจการถาวร
ข่าวสด
10 พฤษภาคม 2565 ( 11:00 )
175

ทำมา 40 ปีไปต่อไม่ไหว! เจ้าของรถโดยสาร บขส.โคราช ขายรถทิ้ง ปิดกิจการถาวร ขาดทุนหนัก ทั้งโควิด-น้ำมันแพง เอาเงินไปให้เมียลงทุน เจอของราคาพุ่งอีก

 

กรณี นางสุจินดา เชิดชัย หรือ เจ๊เกียว นายกสมาคมผู้ประกอบการรถร่วมโดยสาร บขส. และ เจ้าของอู่เชิดชัย และบริษัทเดินรถเชิดชัยทัวร์ ออกมาเปิดเผยว่า ตัดสินใจประกาศขายกิจการของบริษัทเดินรถเชิดชัยทัวร์ ที่ดำเนินการการมานานกว่า 65 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้มีผู้โดยสารลดน้อยลง

 

ประกอบกับปัญหาต่างๆ อาทิ การเกิดขึ้นของสายการบินราคาประหยัด และน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เนื่องจากเจ๊เกียวมีอายุมากแล้วถึง 85 ปี อีกทั้งลูกๆ ทั้ง 5 คน ก็ทำธุรกิจอื่น ไม่มีใครอยากมาสานต่อธุรกิจเดินรถ บขส.ที่มีปัญหาหลายอย่าง จึงได้ตัดสินใจประกาศขายกิจการของบริษัทเดินรถเชิดชัยทัวร์ในครั้งนี้นั้น

 

ล่าสุด วันนี้ 10 พ.ค.65 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่บ้านเลขที่ 1479 ม.1 ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา พบ นายมานิต อัครวงศ์วัฒนา อายุ 69 ปี ซึ่งเป็นครอบครัวหนึ่ง ที่ประกอบกิจการรถโดยสาร บขส. มานานกว่า 40 ปี และได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีผู้โดยสารมาใช้บริการน้อยลง ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลแพง ค่าครองชีพสูงขึ้นสวนทางรายได้ ทนแบกรับภาระไม่ไหว จนต้องตัดสินใจขายรถทัวร์ทิ้งทั้งหมด

 

นายมานิต เล่าว่า เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ตนเองได้เริ่มประกอบธุรกิจเดินรถโดยสาร บขส. โดยลงทุนซื้อรถบัสแบบพัดลมมา 1 คัน วิ่งระหวางนครราชสีมา-สุรินทร์ ซึ่งพี่น้องรวมทั้งตนเอง 8 คน ก็ทำธุรกิจเดินรถโดยสาร บขส.เช่นกัน ต่อมากิจการเริ่มไปได้ดี ตนเองจึงเก็บเงินสะสมซื้อรถมาเพิ่มจนในที่สุดมีรถบัสถึง 5 คัน จึงจ้างลูกน้องช่วยขับ

 

ต่อมาก็ได้ปรับปรุงรถให้เป็นรถแอร์ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า ช่วงแรกก็รายได้ดี มีเงินเดือนจ้างลูกน้องถึง 15 คน กระทั่งมาช่วงปี 62 เริ่มมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้โดยสารตื่นตัวมาใช้บริการรถโดยสาร บขส.น้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 63 ลูกน้องเริ่มนำเงินมาส่งน้อยลงจนขาดทุนทุกวัน

 

ตนเองจึงตัดสินใจนำรถบัสจอดทิ้งไว้ที่ลานจอดรถปั๊มน้ำมันใกล้บ้านทีละคันๆ จนในที่สุดก็ต้องจอดทั้ง 5 คัน เพราะวิ่งไปก็มีแต่ขาดทุน เนื่องจากการวิ่งรถต้องมีภาระค่าใช้จ่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงลูกน้อง ค่าซ่อมบำรุง และที่หนักสุดคือค่าน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้นต่อเนื่อง

 

ตอนแรกคาดว่าจะจอดไว้จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แล้วค่อยกลับมาวิ่งรถใหม่ แต่ด้วยความที่ต้องจ่ายค่าสัมปทานสายวิ่งตลอดทุกเดือน และสถานการณ์ก็ไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ในช่วงต้นปี 64 ตนเองจึงตัดสินใจขายรถบัสทั้ง 5 คันทิ้งไป และเลิกกิจการเดินรถอย่างถาวร

 

โดยเงินที่ได้จากการขายรถก็ได้นำไปใช้หนี้สินต่างๆ จนหมด เหลือเพียงเล็กน้อย ให้ภรรยานำไปต่อยอดทำธุรกิจขายขนมเข่ง แต่ก็ต้องมาประสบกับปัญหาราคาวัตถุดิบแพงอีก ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมันพืช แป้ง ค่าไฟฟ้า แก๊งหุงต้ม เป็นต้น พากันขึ้นราคาพร้อมกันหมด ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าอะไรจะแพงขึ้นอีก ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

ไม่เพียงแต่ตนเองที่ต้องตัดสินใจขายรถโดยสาร ที่เป็นธุรกิจหลักของครอบครัว แต่ญาติๆ และเพื่อนๆ ที่ทำธุรกิจเดียวกันก็มีหลายเจ้าทยอยปิดกิจการขายรถโดยสารทิ้งไปต่อเนื่อง เพราะเขาอยู่ไม่ได้ เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลแพงขึ้น สวนทางกับรายได้ที่น้อยลง จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรถโดยสาร บขส.ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง