รีเซต

เลือกตั้ง 2566 Meta ชู 5 แนวทาง ปกป้องและสนับสนุนการเลือกตั้งไทยให้โปร่งใส

เลือกตั้ง 2566 Meta ชู 5 แนวทาง ปกป้องและสนับสนุนการเลือกตั้งไทยให้โปร่งใส
TNN ช่อง16
4 เมษายน 2566 ( 17:52 )
83
เลือกตั้ง 2566 Meta ชู 5 แนวทาง ปกป้องและสนับสนุนการเลือกตั้งไทยให้โปร่งใส

วันที่ 4 เม.ย. 2566 บริษัท เมตา (Meta) ประเทศไทย โดยคุณแคลร์ อมาดอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ของเมตา ได้จัดการแถลงข่าวชี้แจง 5 แนวทางในการปกป้องการเลือกตั้ง เพื่อสนับสนุนความโปร่งใสผ่านแพลตฟอร์มของบริษัท เช่น เฟซบุ๊ก เตรียมความพร้อมการเลือกตั้งไทยที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้

1. Meta ตั้งทีมทำงานตรวจสอบการเลือกตั้ง

สิ่งแรกที่คุณแคลร์กล่าวถึงภายในงานคือการจัดตั้งทีมงานเชิงปฏิบัติการด้านการเลือกตั้ง (Election Operations Team) เพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งโดยเฉพาะ โดยมีทั้งทีมงานด้านการต่อสู้ข่าวเท็จ ความปลอดภัย สิทธิมนุษยชน และการโจมตีทางไซเบอร์เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความโปร่งใส ซึ่งในทีมงานหลักพันชีวิตจะมีบุคลากรที่เป็นคนไทยร่วมอยู่ด้วย


2. Meta จัดการเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อการเลือกตั้ง

เมตา (Meta) จะเสริมความเคร่งครัดในการจัดการนำเนื้อหาที่ฝ่าฝืนมาตรฐานชุมชนของเมตาออกจากแพลตฟอร์มโดยทันทีที่ได้รับรายงาน ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง (Hate Speech), ความรุนแรงและการยุยง, การกลั่นแกล้งและการคุกคาม รวมไปถึงการให้ข้อมูลเท็จ


โดยเมตาได้ทำงานกับเครือข่ายระดับโลกที่ประกอบด้วยองค์กรผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระจำนวนกว่า 90 ราย เพื่อตรวจสอบเนื้อหากว่า 60 ภาษา รวมถึงภาษาไทย สำหรับข้อมูลเท็จประเภทที่มีเนื้อหารุนแรง เช่น ข้อมูลเท็จที่มีวัตถุประสงค์ในการสกัดกั้นผู้ใช้สิทธิ์หรืออาจก่อให้เกิดความรุนแรงและอันตรายต่อร่างกาย ในขณะที่ข้อมูลเท็จจะถูกลดการเผยแพร่และถูกติดป้ายแจ้งเตือนที่มาพร้อมการแสดงข้อมูลเพิ่มเติม ในประเทศไทย บริษัทยังได้ร่วมมือกับ AFP Thailand ในฐานะผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทยอีกด้วย


3. Meta เพิ่มความโปร่งใสการโฆษณาและดูแลเพจ

เป้าหมายหลักของเมตาคือการเสริมการยืนยันตัวตน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ พรรคการเมือง หรือแม้แต่อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ต่างต้องได้รับการพิสูจน์ตัวตนว่าเป็นบุคคลจริง พร้อมกับเปิดเผยที่มาของการโฆษณาทั้งผู้จ้างและเป้าหมาย พร้อมปิดกั้นการลงโฆษณาจากบุคคลหรือองค์กรในต่างประเทศ เพื่อป้องกันการแทรกแซงการเลือกตั้งจากต่างประเทศ และมีการเก็บฐานข้อมูลการโฆษณา หรือเรียกว่าคลังโฆษณา (Ads Library) เป็นเวลา 7 ปี แบบสาธารณะให้ทุกคนเข้าถึงได้แม้ว่าโฆษณานั้นจะหมดช่วงเวลาการโฆษณาไปแล้วก็ตาม


หลังการแถลงข่าว มีสื่อมวลชนสงสัยในมาตรฐานการยืนยันตัวตนว่าทางเมตา (Meta) จะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ในการตรวจสอบการโฆษณาเนื้อหาทางการเมือง ซึ่งทางคุณขวัญชนก เรืองขำ ผู้จัดการฝ่ายพันธมิตรหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคม  สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ให้ข้อมูลว่าต้องใช้ระยะเวลาภายใน 3 วัน ในขณะที่เนื้อหาทั่วไปจะใช้ระยะเวลาอยู่ที่ 48 ชั่วโมง ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวยังรวมไปถึงสื่อมวลชนที่ต้องการเพิ่มการมองเห็นโฆษณาทางการเมืองด้วยเช่นกัน 

4. Meta สกัดเครือข่ายปลอมแปลงตัวตนออนไลน์

เมตา (Meta) เน้นย้ำว่าจะมีทีมไซเบอร์เพื่อสอดส่องและรับมือปัญหาด้านการยืนยันตัวตนและป้องกันการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนบนโลกออนไลน์ หรือเรียกว่า CIB (Coordinated Inauthentic Behaviour) ในช่วงการเลือกตั้ง


และในวันเดียวกันนี้ เมตา (Meta) ได้เปิดตัวหลักสูตรการเรียนรู้แบบออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับพื้นฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริง ภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล (International Fact Checking Network หรือ IFCN) ที่ให้บริการใน 15 ภาษา รวมถึงภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้และอบรมทักษะขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับขั้นตอนการตรวจสอบและยืนยันข้อเท็จจริง รวมถึงการลบล้างคำกล่าวอ้างที่ผิด และการจัดการกับข้อมูลที่บิดเบือนและข้อมูลเท็จ


โดยบ่อยครั้งที่บริษัทสามารถตรวจเจอและลบบัญชีปลอมภายในเวลาไม่กี่นาที หลังจากที่บัญชีเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมา ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2565 มีบัญชีปลอมจำนวนกว่า 1.3 พันล้านบัญชี ที่ถูกลบออกไปจากแพลตฟอร์ม


5. Meta สนับสนุนการมีส่วนร่วมภาคพลเมือง

เมตา (Meta) ได้จับมือ โคแฟคประเทศไทย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย, มูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ, มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์, มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยและไซด์คิก เพื่อส่งเสริมให้คนไทยสามารถระบุข้อมูลบิดเบือนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมเชิงบวกและมีความรับผิดชอบ (Civic Engagement) ในช่วงการเลือกตั้งผ่านสื่อรณรงค์ในรูปแบบแอนิเมชันจากเมตา (Meta)


ทั้งนี้ การสนับสนุนการรับรู้ทางการเมืองของเมตาเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ผ่านโครงการ We Think Digital Thailand ซึ่งมีความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรภาคีในประเทศไทยแล้วกว่า 40 หน่วยงาน เพื่อร่วมผลักดันให้คนไทยมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบในชุมชนของเรา มีผู้เข้าถึงข้อมูลและสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ภายใต้โครงการแล้วกว่า 32 ล้านคน


ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ Meta


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง