เปิดผลสำเร็จไทย-จีน หนุนการค้า-การลงทุน
จบภารกิจไปแล้วกับการเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 16 - 19 ตุลาคม 2566 ของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พร้อมคณะ นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในนามรัฐบาลไทย ต่อสายผู้นำโลก โดยนายกรัฐมนตรีได้ชูโครงการ Landbrige เน้นสร้างความเชื่อมโยง พร้อมนำเสนอไทยเป็น EV Hub การสนับสนุนการพัฒนา Digital และการท่องเที่ยวไทย
การเยือนประเทศจีนในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 3 ซึ่งนายกฯ เชื่อว่า ข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในหลากหลายมิติทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และด้านวัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้โครงการที่รัฐบาลวางแผนดำเนินการ จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงในวงกว้าง เชื่อว่า จะต่อยอดนำมาถึงการลงทุนที่มากกว่า 1 ล้านล้านบาท
ภารกิจของนายกฯและคณะครั้งนี้ หลายฝ่ายออกมาชื่นชม โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มองว่า จะเพิ่มโอกาสในการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น อีกทั้งความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ทำเลที่ตั้งของประเทศไทย ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางภายใต้ BRI ทั้งทางบกและทางทะเล จึงถือเป็นโอกาสดีในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศไทยกับจีนมากขึ้น
ด้วยข้อได้เปรียบของไทย ที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในอาเซียน โดยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ของภูมิภาค การเข้ามาทำธุรกิจการค้าและการลงทุนกับไทย จึงไม่เพียงแค่รองรับประชากร 67 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงประชากรกว่า 620 ล้านคนในอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับโครงการ Landbridge อีกด้วย
ส่วนภาคการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีได้สร้างความมั่นใจแก่ฝ่ายจีนว่า ประเทศไทยมีความปลอดภัย และพร้อมอำนวยความสะดวกการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวจีน ผ่านมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (Visa Free) ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 และพร้อมผลักดันให้เป็นมาตรการแบบถาวรต่อไป ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนของสองประเทศ
ขณะที่ ททท.ได้ลงนามกับ 8 พันธมิตรบริษัทชั้นนำของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวจากประเทศจีน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้าง แลกเปลี่ยนความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย พร้อมทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญ ในการที่จะร่วมกันส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพชาวจีน ให้เดินทางเข้าประเทศไทยตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 200,000 ล้านบาท และหนุนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้บรรลุเป้าหมายจำนวน 25 ล้านคน ภายในปี 2566
ไทย-จีน มีความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา จีนยังครองตำแหน่งนักลงทุนเบอร์ 1 ในประเทศไทย มีสัดส่วนร้อยละ 25 ของยอดรับส่งเสริมทั้งหมด หรือมูลค่า 90,346 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57,809 ล้านบาท จากช่วงเดียวกัน
ของปีก่อนที่มีการลงทุน 32,537 ล้านบาท
ขณะที่ทิศทางการลงทุนจีนจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 3 สาขาหลัก คือ กลุ่มรถยนต์อีวี รวมถึงแบตเตอรี่และชิ้นส่วน กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทใหญ่ๆ ของจีนหลายราย มีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้ว และมีแนวโน้มที่จะขยายการลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
เมื่อประตูการค้า-การลงทุนระหว่างไทยและจีน เปิดกว้างมากขึ้น และด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีมายาวนานกว่า 48 ปี ต้องจับตาดูว่า การแสวงหาความร่วมมือกันในทุกมิติ ระหว่างไทยกับจีนครั้งนี้ จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงในวงกว้าง และต่อยอดนำมาถึงการลงทุนที่มากกว่า 1 ล้านล้านบาท ตามที่นายกฯได้ประกาศไว้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม
ข้อมูล : www.thaigov.go.th
มนตรี ขัดเรือง : เรียบเรียง