ECMO คืออะไร ? รู้จัก "เครื่อง ECMO" เครื่องหัวใจ-ปอดเทียมของผู้ป่วยภาวะวิกฤต
ข่าววันนี้ หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า ECMO คืออะไร วันนี้จะพาไปรู้จัก เครื่อง ECMO ที่มีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะวิกฤต โดยใช้ ECMO ใช้พยุงการทำงานของปอดและหัวใจ
ECMO
ECMO ย่อมาจากExtracorporeal Membrane Oxygenation ซึ่งเป็นเครื่องช่วยแทนที่การทำงานของหัวใจและปอดในเวลาที่อวัยวะอ่อนแอเกินไปที่จะทำงาน คล้ายกับเครื่องที่ใช้สำหรับการผ่าตัดหัวใจ (Open – Heart Surgery) ซึ่งผู้ป่วยจะต้องใช้เครื่องเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่เครื่อง ECMO อาจต้องใช้ถึงหลายสัปดาห์ เรียกได้ว่า ECMO ช่วยทดแทนการใช้งานของอวัยวะที่มีปัญหา เช่น หัวใจหรือปอด เพื่อให้อวัยวะมีเวลาพักฟื้น เมื่อหัวใจและ/หรือ ปอดได้หายเป็นปกติแล้วจะไม่ต้องใช้เครื่อง ECMO
การใช้เครื่อง ECMO เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤต ต้องอาศัยการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์และญาติผู้ป่วย ECMO เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องเป็นการทำงานร่วมกันของสหวิชาชีพที่อาศัยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ
ECMO ทำงานอย่างไร
ECMO เป็นเครื่องมือที่ใช้เพิ่มระดับออกซิเจนและลดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดจากภายนอกร่างกาย สำหรับผู้ป่วยที่ปอดและหัวใจไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซในสภาวะปกติได้อย่างพอเพียง โดยระบบการทำงานของ ECMO นั้น มีอยู่ 3 ระบบได้แก่
- Veno-Arterial (VA) สำหรับกรณีที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรง หรือ มีทั้งปอดและหัวใจล้มเหลว โดยเครื่องจะดูดเลือดออกจากเส้นเลือดดำใหญ่ เช่น จากคอในเด็กเล็ก หรือขาในเด็กโตและผู้ใหญ่ และผ่านเครื่องปอดเทียมเพื่อเพิ่มออกซิเจนและช่วยแลกเปลี่ยนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าสู่เส้นเลือดแดงใหญ่ส่วนบนหรือส่วนล่าง
- Veno-venous (VV) สำหรับกรณีที่มีภาวะหายใจล้มเหลวชนิดรุนแรง โดยเครื่องจะดูดเลือดออกจากเส้นเลือดดำใหญ่ผ่านปอดเทียม และเข้าสู่หลอดเลือดดำใหญ่อีกครั้ง
- Arterial-venous สำหรับกรณีที่มีภาวะหายใจล้มเหลวชนิดรุนแรงปานกลาง ซึ่งจะใช้แรงดันจากด้านหลอดเลือดแดงโดยไม่ต้องใช้เครื่องดึงผ่านปอดเทียม
ECMO ใช้กับใคร
ผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องได้รับการช่วยชีวิตด้วยเครื่อง ECMO ได้แก่
- ผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง
- ผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจล้มเหลวชนิดรุนแรง
- ในบางรายอาจมีอาการทั้งสองอย่างร่วมกัน
ECMO ไม่ควรใช้กับใคร
ข้อจำกัดในการใช้เครื่อง ECMO นั้น หากผู้ป่วยมีปัจจัยร่วมบางประการเราจะไม่พิจารณานำผู้ป่วยมาใช้เครื่อง ECMO เช่น
- ผู้ป่วยที่มีความเสียหาย อวัยวะที่ไม่สามารถกู้คืน อวัยวะล้มเหลวหลายจุด
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย
- ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจมาเป็นระยะเวลานาน
- ผู้ป่วยที่มีภาวะ Aortic Regurgitation/Dissection เป็นต้น
ผลข้างเคียงเครื่อง ECMO
- ภาวะเลือดออกในสมอง
- ภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงที่ขา (ในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ ระบบ Veno-Arterial ECMO)
- ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
- ภาวะติดเชื้อ
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น
ซึ่งแพทย์และพยาบาล ต้องเฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วย อย่างใกล้ชิด ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
เครื่อง ECMO มีที่ไหนบ้าง
ในประเทศไทยมีการใช้เครื่อง ECMO ตามโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลศูนย์ใหญ่ๆ ทั่วประเทศ โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เริ่มใช้เครื่อง ECMO ครั้งแรกในหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตหลังการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก (CVT ICU) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 หรือ กว่า 10 ปีที่แล้ว และเริ่มมีการใช้ในหออภิบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤต (PICU) ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2554
ข้อมูล ศ.นพ.รุจิภัตต์ สำราญสำรวจกิจ หัวหน้าสาขาวิชาเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , โรงพยาบาลกรุงเทพ
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<