รีเซต

ร้องสภา! คัดค้านทำแท้งเสรี ชี้ผิดหลักแพทย์ หลักศาสนา สิทธิมนุษยชน

ร้องสภา! คัดค้านทำแท้งเสรี ชี้ผิดหลักแพทย์ หลักศาสนา สิทธิมนุษยชน
ข่าวสด
17 มีนาคม 2564 ( 15:38 )
112
ร้องสภา! คัดค้านทำแท้งเสรี ชี้ผิดหลักแพทย์ หลักศาสนา สิทธิมนุษยชน

เครือข่ายคัดค้านการทำแท้งเสรี ยื่นหนังสือร้องสภา คัดค้านทำแท้งเสรี พร้อมให้แก้ พ.ร.บ. ชี้ ผิดหลักการแพทย์ ผิดศีลธรรม และสิทธิมนุษยชน

 

วันที่ 17 มี.ค. ที่รัฐสภา นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศิวิไลซ์ รับหนังสือจากเครือข่ายคัดค้านการทำแท้งเสรี นำโดย นพ.ภีศเดช สัมมานันท์ และ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ปธ.สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขฯ เรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติ ป.อาญา 2499 แก้ไขเพิ่มเติม 2564 ฉบับที่ 28 เกี่ยวกับมาตรา 301 กับ 305 ที่อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้อย่างเสรี

 

นพ.ภีศเดช กล่าวว่า ประเด็นที่นำมาใช้ผลักดันให้แก้กฎหมาย เนื่องจากพิจารณาว่าทารกในครรภ์คืออวัยวะส่วนหนึ่งของมารดา และเป็นส่วนหนึ่งของมดลูกเท่านั้น ซึ่งไม่ถูกต้องตามข้อมูลทางการแพทย์ หลักศาสนา และหลักสิทธิมนุษยชน เมื่อออกกฎหมายมาจึงไปกระทบกระเทือนสิทธิของทารกในครรภ์ สิทธิของบิดา และสิทธิของบิดามารดาของหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

 

โดยกฎหมายตามมาตรา 301 อนุญาตให้หญิงที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 0-12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งเองได้ ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตได้ และหากทำแท้งโดยไม่ได้รับการให้ข้อมูลคำปรึกษา เมื่อทำแท้งเสร็จก็จะกลับไปสู่สภาพแวดล้อมและปัญหาเดิม ๆ คือมีโอกาสตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและทำแท้งซ้ำอีก

 

 

นพ.ภีศเดช กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสามารถตรวจอัตราการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ได้ตั้งแต่ 5 สัปดาห์ ฉะนั้นตั้งแต่เกิดการปฏิสนธิก็ถือว่ามีสภาพความเป็นมนุษย์แล้ว หากมองข้ามประเด็นนี้ไปก็จะมองว่าทารกเป็นเพียงอวัยวะส่วนหนึ่ง หรือส่วนเกินของร่างกายมารดา กฎหมายก็จะไม่คุ้มครองสิทธิให้กับทารกในครรภ์ ตนไม่ได้มองข้ามความเดือดร้อนของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และได้เตรียมแนวทางการแก้ปัญหาแล้ว

 

ด้าน พญ.เชิดชู กล่าวว่า รมว.สาธารณสุข เคยบอกว่าอัตราการเกิดของเด็กไทยน้อยลง ฉะนั้นการที่มีกฎหมายเช่นนี้ออกมาเป็นกฎหมายสุดโต่งเกินไป ไม่คำนึงถึงสิทธิในการมีชีวิตของเด็ก ตนจึงเห็นว่ากฎหมายนี้ไม่คำนึงถึงความยุติธรรมของทุกฝ่าย และไม่รับฟังความเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ บิดาของทารกในครรภ์ หรือครอบครัวของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ จึงอยากให้พิจารณาว่ากฎหมายนี้จะทำความเสียหายแก่ชาติพันธุ์ในอนาคตหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง