"คอลลิเออร์ส" เผยโรงแรมลัคชัวรี่ใหม่ในกทม. ถูกเลื่อนเปิดตัวไม่มีกำหนดเหตุโควิดยังไม่มีจุดสิ้นสุด
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจโรงแรมระดับลัคชัวรี่ในช่วงครึ่งแรกของปีพ.ศ. 2564 ที่ผ่านมายังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการห้องพักยังคงปรับตัวลดลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปีที่ผ่านมาเหลือเพียงแค่ 40,447 คนเท่านั้น ปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 99.40 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ตลาดยังคงจำเป็นที่จะพึ่งพิงนักท่องเที่ยวภายในประเทศโดยการมอบส่วนลดราคาพิเศษเพื่อกระตุ้นความสนใจของนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้บริการ และก็ไม่ได้รับความสนใจมากนักเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยละลอกใหม่ในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น มีผู้ติดป่วยรายใหม่ประจำวันมากกว่า10,000 คนและตัวเลขผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คนต่อวัน เป็นผลให้รัฐบาลขยายระยะเวลาการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 2 เดือน ทุกเขตพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร
โดยมาตรการที่ออกมาในครั้งนี้อยู่ภายใต้หลักคิดจำกัดการเคลื่อนย้าย การรวมกลุ่มของบุคคลเฉพาะ กำหนดเวลาการออกนอกเคหสถาน ควบคู่ไปกับมาตรการเร่งรัดด้านการป้องกันโรค การฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล รวมทั้งการเยียวยาประชาชน ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากประชาชนมองว่า การเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้ค่อนข้างยากลำบากและไม่ปลอดภัย แม้ว่าผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมจะพยายามปรับตัวและหาช่องทางรับมือทุกวิถีทาง แต่ยอดจองห้องพักก็ไมได้รับตัวเพิ่มขึ้นในขณะเดียวกันยอดการจองห้องพักกว่าร้อยละ 50 ถูกยกเลิกการจองห้องพักไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวปิดการการถาวรหรือบางรายเลือกที่จะประกาศขายโรงแรมออกไป เนื่องจากมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงยืดเยื้อ และไม่มีทีท่าที่จะจบลงในระยะเวลาที่รวดเร็ว
สำหรับภาพรวมอุปทานโรงแรมระดับลัคชัวรี่ในกรุงเทพมหานคร ณ สิ้นครึ่งแรกปี พ.ศ.2564 ยังคงอยู่ที่ประมาณ 12,943 ห้องพัก ไม่พบว่ามีโรงแรมระดับลัคชัวรี่เปิดบริการใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเลื่อนการเปิดตัวออกไปจากในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา และอาจมีการปรับแผนการเปิดตัวใหม่อีกครั้งในอนาคตหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกและการระบาดของไวรัสดังกล่าวรอบที่ 4 ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ในพื้นที่เสี่ยงอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่าน
คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คาดการณ์ทิศทางกลุ่มธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังปีพ.ศ. 2564 ว่าจะยังมีทิศทางที่ใกล้เคียงกับในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา หากรัฐบาลดำเนินการจัดหาวัคซีนและขับเคลื่อนแผนการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น และสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 4 ในประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว และสามารถผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้ธุรกิจต่างๆ กลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติในระยะเวลาที่รวดเร็ว อาจส่งผลให้ในช่วงไตรมาสสุดท้าย ธุรกิจท้องเที่ยวและบริการบางรายที่ปิดกิจการชั่วคราวในช่วงก่อนหน้าอาจสามารถกลับมาเปิดบริการได้อีกครั้งตามแผนของผู้ประกอบการที่วางไว้ และเรามองว่ารัฐบาลควรให้การสนับสนุนค่าจ้างแรงงานคนครึ่งร่วมกับผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรม (โค-เปย์) ฝั่งละ 7,500 บาทต่อเดือน สำหรับค่าจ้างแรงงานไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน จากพนักงานโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องที่มีทั้งหมดราว 4.5 แสนคน นอกจากนี้ควรพิจารณาถึงการลดจำนวนวันที่นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถเดินทางออกจากการกักตัวได้จาก 14 วันเหลือ 7 วัน และที่สำคัญที่สุดควรเร่งการฉีดวัคซีนในพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศซึ่งถือว่าเป็นรายหลักของประเทศให้กลับมาฟืนตัวในระยะเวลที่รวดเร็ว
อย่างไรก็ตามพบว่ามีเพียงแค่โรงแรมระดับอัพสเกลและมิดสเกลเปิดบริการใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมาเท่านั้น จำนวน 2 โรงแรม รวมทั้งสิ้น 371 ห้องพัก คือ โรงแรมมายเทรียณ์ พระราม 9 กรุงเทพฯ – เอ ชาเทรียม คอลเลคชั่น เปิดบริการในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ประกอบไปด้วยห้องพักจำนวน 230 ห้องพัก ซึ่งโรงแรมดังกล่าวตั้งอยู่ที่บนถนนพระราม 9 และโรงแรม เดอะ ควอเตอร์ สีลม บาย ยูเอชจี พัฒนาโดย เออร์เบิน ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป ประกอบไปด้วยห้องพักจำนวน 141 ห้องพัก และมีอีกหนึ่งโรงแรมคือ โอ๊ควู๊ด โฮเทล แอนด์ เรสซิเด้นท์ แบงค็อก ตั้งอยู่ใจกลางธุรกิจย่านสาทร ที่เป็นการรีโนเวทมาจากโรงแรมแอสเทรา สาทร และเปิดใหม่บริการใหม่ประกอบด้วยห้องพักจำนวน 142 ห้องพัก ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการยังคงเป็นอีกหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่ขณะนี้นักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้โดยปกติ โดยโรงแรมหลายแห่งต้องปิดตัวลงชั่วคราวถึงแม้ว่าจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการในช่วงที่ผ่านมาหรือบางโรงแรมประกาศปิดกิจการถาวรและมีการประกาศขายโรงแรม หรือมีการปรับตัวในรูปแบบอื่นๆ เช่น ให้เช่าห้องเพื่อเป็นสถานกักตัวของรัฐ หรือปล่อยเช่ารายเดือน เป็นต้น นอกจากนี่พบว่า มีโรงแรมระดับระดับลัคชัวรี่ในกรุงเทพมหานครที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการในช่วงครึ่งหลังปีพ.ศ. 2564 อีกประมาณ 4 แห่ง ประมาณ 726 ห้องพักและในปีพ.ศ. 2565 อีกประมาณ 600 ห้องพัก และพบว่ามีโรงแรมระดับลัคชัวรี่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครประมาณ 2 โครงการ 423 ห้องพัก ยังคงเลื่อนการเปิดตัวออกไปจากในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา และอาจมีการปรับแผนการเปิดตัวใหม่อีกครั้งในอนาคตหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกและการระบาดของไวรัสดังกล่าวรอบที่ 4 ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ในพื้นที่เสี่ยงอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่าน
สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวในช่วงครึ่งแรกปีพ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา พบว่ายังคงเป็นปีที่ค่อนข้างท้าทายและยากลำบากเป็นอย่างมากสำหรับภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย เนื่องจากปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เป็นอย่างมากซึ่งจากเดิมคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ไว้ที่ประมาณ 10 ล้านคน แต่ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย มองว่าหลังจากผ่านครึ่งแรกของปีมาแล้วสถานการณ์ต่างๆยังไม่มีท่าทีที่ดีขึ้น คาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจเหลือเพียงแค่ประมาณ 100,000 คนเท่านั้น ซึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทาเข้ามาในประเทศไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาเหลือเพียงแค่ 40,447 คนเท่านั้น ปรับตัวลดลงร้อยละ 99.40 จากในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ประมาณ 6,691,574 คน ซึ่งตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน พ.ศ. 2564 ในแต่ละเดือนจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันคือประมาณ 5,741-8,529 คนต่อเดือน โดยพบว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจากยุโรปเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 42.30 ตามมาด้วยประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก คิดเป็นร้อยละ 29.88 และประเทศในกลุ่มอเมริการ้อยละ 16.3 ซึ่งพบว่ามีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเพียงแค่ร้อยละ 7.39 เท่านั้น
อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมระดับลัคชัวรี่ในกรุงเทพมหานคร ณ ครึ่งแรกของปีพ.ศ.2564 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 18.00 ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.00 จากอัตราเข้าพักเฉลี่ยในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าจากสถิติการเข้าพักโรงแรมทั่วประเทศไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยพบว่าอัตราเข้าพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวในประเทศไทยในเดือนมกราคม อยู่ที่ร้อยละ 10.64 และปรับตัวดีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ตามแนวโน้มของการแพร่ระบาดไวรัสโคววิด-19 ในประเทศไทยที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 18.74 และเดือนมีนาคมที่ร้อยละ 23.21 และเริ่มปรับตัวลดลงอีกครั้งเมื่อพบการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ซึ่งเกิดขึ้นในหลายจังหวัดและมีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มากกว่าการระบาดในระลอกก่อนหน้านี้ ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 16.22 ในเดือนเมษายน และยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคมที่ร้อยละ 6.97 และเดือนมิถุนายนที่ร้อยละ 7.89
ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมระดับลัคชัวรี่ในกรุงเทพมหานครและโรงงแรมทุกระดับในประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของปีจะยังคงใกล้เคียงกับในช่วงครึ่งแรกของปีหรือปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่4 ในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมีผู้ติดป่วยรายใหม่ประจำวันมากกว่า10,000 คนและตัวเลขผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คนต่อวัน เป็นผลให้รัฐบาลขยายระยะเวลาการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 2 เดือน ทุกเขตพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. โดยมาตรการที่ออกมาในครั้งนี้อยู่ภายใต้หลักคิดจำกัดการเคลื่อนย้าย การรวมกลุ่มของบุคคลเฉพาะ กำหนดเวลาการออกนอกเคหสถาน ควบคู่ไปกับมาตรการเร่งรัดด้านการป้องกันโรค การฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล รวมทั้งการเยียวยาประชาชน ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมเป็นอย่างมาก
ณ สิ้นครึ่งแรกของปีพ.ศ. 2564 ราคาเฉลี่ยห้องพักรายวัน(ADR) ของโรงแรมระดับลักชัวรี่ในกรุงเทพมหานครยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องโดยภาพรวมมาอยู่ที่ประมาณ 3,264 บาท ปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 15.00 จากในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบจากการมอบส่วนลดให้แก่ลูกค้าภายในประเทศเนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ซึ่งเราพบว่าผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมบางรายปรับลดราคาห้องพัก-อาหาร ลงกว่าร้อละ 50 อย่างไรก็ตามแม้ว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมจะมีรายได้ที่ปรับตัวลดลงจากการปิดให้บริการของโรงแรมเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการปิดประเทศ ทำให้รายได้หลักที่มาจากการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ขาดหายไป แต่จากมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาลที่ยังมีความยืดหยุ่น ทำให้ร้านอาหารยังสามารถเปิดให้บริการในแบบซื้อกลับไปกินที่บ้านได้ หรือผ่านฟูดเดลิเวอรี ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมหลายรายจึงหันมาปรับตัวด้วยการบริการด้านอาหารให้กับลูกค้าแบบเดลิเวอรี เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้อีกช่องทางในภาวะที่อัตราการเข้าพักตกต่ำ
แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้อัตราการจองโรงแรมลดลงและอีกกว่าร้อยละ 50 มีการยกเลิกห้องพัก เนื่องจากมองว่าการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมาอาจไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการจำกัดการเดินทาง แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังประสบกับปัญหาการกระจายวัคซีนที่ยังคงล่าช้า โดยเริ่มการกระจายวัคซีนครั้งแรกในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และตัวเลขการฉีดวัคซีนถึงช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกเพียงแค่ร้อยละ 16.16 ต่อสัดส่วนประชากรทั้งประเทศเท่านั้น
ผู้ประกอบการโรงแรมจำนวนมากยังคงเลือกที่จะปิดให้บริการเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด เนื่องจากความต้องการโรงแรมทั้งในกรุงเทพฯและในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมามีเพียงจากนักท่องเที่ยวภายในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาภายใต้โครงการสถานกักกันทางเลือกเท่านั้น ผู้ประกอบการโรงแรมยังคงต้องพึ่งพาความต้องการจากนักท่องที่ยวในประเทศ และนักท่องเที่ยวที่ได้รับการกักตัวแล้ว ดังนั้นอัตราการเข้าพักและราคาเฉลี่ยรายวันคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำตลอดทั้งปี พ.ศ. 2564 มีเพียงโรงแรมที่เข้าร่วมเป็นฮอสพิเทลเท่านั้นที่มีอัตราการเข้าพักที่ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 30.00 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเข้าพักที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับโรงแรมอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีโรงแรมที่เข้าร่วมเป็นฮอสพิเทลรวมกว่า 234 แห่ง ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมจำนวนมากเลือกที่จะปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่มีความหวังว่าจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้