ประมวลภาพ ชัชชาติ ชมงานศิลป์ “ชุมชนเลื่อนฤทธิ์” ดันพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ทั่ว กทม.

นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พร้อมด้วย พินิจ กาญจนชูศักดิ์ ว่าที่ ส.ก. เขตสัมพันธวงศ์ พรรคประชาธิปัตย์ และ อาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ ร่วมชมงานศิลปะภายในชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ถ.เยาวราช จัดโดยภาคประชาสังคมกลุ่ม “ดินสอสี” ที่เดินหน้าจัดเทศกาลศิลปะชุมชนตามย่านต่างๆ ของ กทม. มาอย่างต่อเนื่อง
ชัชชาติ กล่าวว่า ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นตึกเก่า เช่าพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่ผู้เช่ารายเดิมได้รวมตัวกันจัดตั้งบริษัท ขอเช่าพื้นที่ระยะยาว ต่อมาได้ปรับปรุงอาคารใหม่แข็งแรงสวยงาม โดยคงโครงสร้างอาคารเดิมไว้ มีการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน รวมทั้งทำบ่อบำบัดน้ำเสีย ทำให้น่าเดินเที่ยว จากนั้นพัฒนาต่อยอดเป็นพื้นที่ศิลปะสร้างสรรค์ ส่งเสริมการแสดงออกรูปแบบต่างๆ เช่น การแสดงดนตรี และ การอบรมเชิงปฏิบัติการด้านศิลปะ
ชัชชาติ ระบุว่า แนวคิดนี้สอดคล้องกับนโยบายของตนที่มุ่งมั่นจะทำให้กรุงเทพเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะคนรุ่นใหม่สามารถสร้างมูลค่าให้กับงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ได้ คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้ทำงานประจำอีกต่อไป แต่จะสร้างงานได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น พื้นที่สร้างสรรค์ที่มีคุณค่าเช่นนี้ควรกระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพ เพราะยังมีจำนวนไม่เพียงพอ ต้องมีการขยายพื้นที่สร้างสรรค์ให้มากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกในการพักผ่อนหย่อนของประชาชน ตลอดเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกด้วย
“ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของสุนทรียศาสตร์ เป็นเรื่องของความจรรโลงใจ หากเราอยากจะเสพงานศิลป์ แต่บางพื้นที่มีจำกัด จริงๆ ควรมีนิทรรศการหมุนเวียนไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้คนมีทางเลือกมากขึ้น มากกว่าดูหนังตามห้าง การดูงานศิลป์ การฟังดนตรีที่เข้าถึงได้ง่าย ทำให้ชีวิตเรามีทางเลือกในการพักผ่อน เพื่อให้เรามีความสุขมากขึ้น รวมถึงการสร้างงานใหม่ๆ ต่อยอดสู่งานเศรษฐกิจสร้างสรรรค์ได้” ชัชชาติ กล่าว
ชัชชาติ กล่าวว่า ต้องการผลักดันนโยบาย 50 ย่าน 50 อัตลักษณ์ ให้เป็นเครื่องมือพัฒนาพื้นที่ชุมชนต่างๆ ในอนาคต เพราะเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจระดับชุมชน พร้อมยืนยันว่าทุกย่านมีศักยภาพพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เป็นของตัวเองได้ ทั้งนี้ ต้องยึดหลักความเข้าใจชุมชนเป็นที่ตั้งในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์รายเขตให้เกิดขึ้นจริง(เมื่อวันที่ 27 พ.ค.65)
ภาพโดย: ทีมประชาสัมพันธ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์