ลมหายใจโรงแรมแผ่ว! สภาพคล่องลดกว่า 20% ที่เหลืออยู่ต่อได้ไม่เกิน 3 เดือนหากโควิดยืดเยื้อเล็งปิดกิจการ
ธปท.-ทีเอชเอ สำรวจลมหายใจโรงแรมแผ่ว โอดสภาพคล่องลดกว่า 20% ที่เหลืออยู่ต่อได้ไม่เกิน 3 เดือนหากโควิดยืดเยื้อเล็งปิดกิจการ
โรงแรมซมพิษโควิด - นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ทีเอชเอ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือนส.ค. 2564 ระหว่างวันที่ 13-28 ส.ค. ที่ผ่านมา มีโรงแรมตอบแบบสำรวจ 234 แห่ง โดยเป็นโรงแรมสถานกักกันทางเลือก (ASQ) 14 แห่ง และฮอสพิเทล 5 แห่ง พบผู้ประกอบการที่พักแรมยังคงได้รับผล กระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการเข้าพักยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีสภาพคล่องลดลง ส่งผลให้มากกว่าครึ่งอาจพิจารณาปิดกิจการชั่วคราวเพื่อลดต้นทุน หากโควิด-19 ยังยืดเยื้อ
ส่วนสถานะกิจการ ของโรงแรมจำนวน 215 แห่ง (ไม่รวมโรงแรมที่เป็น ASQ และฮอสพิเทล) เปิดกิจการปกติ 48.4% เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค. ที่เปิดกิจการ 40.1% โดยโรงแรมในภูเก็ตมีการเปิดรับนักท่องเที่ยว ด้านโรงแรมในกรุงเทพฯ เปิดรับลูกค้าพักระยะยาว, เปิดกิจการบางส่วนตั้งแต่ 50% ขึ้นไปมีสัดส่วน 9.8% ลดลงจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 11%, เปิดกิจการบางส่วนแต่ไม่เกิน 50% มีสัดส่วน 25.1% ลดลงจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 27.2% และปิดกิจการชั่วคราว 16.7% ลดลงจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 21.7% โดยส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในไตรมาส 4 นี้
ทั้งนี้ ยังพบว่าส่วนใหญ่ 58% ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ทั้งหมด มีรายได้ในเดือนส.ค. ที่ผ่านมา กลับมาไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ด้านโรงแรมที่มีรายได้กลับมา 11-30% มีสัดส่วน 17%, รายได้กลับมา 31-50% มีสัดส่วน 6%, รายได้กลับมา 51-70% มีสัดส่วน 7% และรายได้กลับมามากกว่า 70% มีสัดส่วน 12%
“70% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีสภาพคล่องลดลงมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับเดือนก.ค. ที่ผ่านมา และ 65% มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน โดยครึ่งหนึ่งมีสภาพคล่องเพียงพอไม่ถึง 1 เดือน กระจายอยู่ทุกภูมิภาค”
นางมาริสา กล่าวว่า สำหรับอัตราการเข้าพักของเดือนส.ค. เฉลี่ยอยู่ที่ 10.6% ทรงตัวจากเดือนก.ค. โดยหากไม่รวมกลุ่มโรงแรมที่รับลูกค้าตามโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และลูกค้าที่เข้าพักระยะยาวเป็นหลัก อัตราเข้าพักเฉลี่ยจะอยู่ที่ 7.5% เท่านั้น และเมื่อแยกเป็นรายภาค อัตราเข้าพักของภาคเหนืออยู่ที่ 7.5% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ 5.1%, ภาคอีสานมี 15.3% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งมี 14.7%, ภาคตะวันออกมี 9% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งมี 6%, ภาคกลางมี 13.8% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งมี 12.1% และภาคใต้มี 9.9% ลดลงจากเดือนก่อนซึ่งมี 10.1% ทั้งนี้ยังคาดการณ์ว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเดือนก.ย.นี้ จะลดลงอยู่ที่ 9%
สำหรับ อัตราจ้างงานของผู้ประกอบการโรงแรมเฉลี่ยอยู่ที่ 54% ของช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 หากไม่รวมกลุ่มที่ปิดกิจการชั่วคราวจะเฉลี่ยอยู่ที่ 56% โดยเดือนส.ค. ภาคเหนือมีอัตราจ้างงาน 59.4% เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค. ที่มีการจ้างงาน 56%, ภาคอีสานมีอัตราจ้างงาน 62.6% ลดลงจากเดือนก่อนที่มี 70.6%, ภาคกลางมีอัตราจ้างงาน 55% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มี 52.8% และภาคใต้มีอัตราจ้างงาน 48.4% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มี 43.8% สัดส่วนแรงงานที่ได้รับวัคซีนแล้วในเดือนส.ค. เฉลี่ยอยู่ที่ 74% เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค. ที่มีแรงงานท่องเที่ยวฉีดวัคซีนจำนวน 57% และเพิ่มขึ้นทุกภาค โดยภาคใต้มีแรงงานท่องเที่ยวฉีดวัคซีนสูงสุด 89.4% รองลงมาคือ ภาคกลาง 70.7% ตามมาด้วยภาคอีสาน 65.7% และภาคเหนือ 54.3%
“นอกจากนี้ ยังสำรวจแนวทางการปรับตัวของกลุ่มตัวอย่าง หากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อกว่าที่คาด พบว่า 52% เลือกปิดกิจการชั่วคราว ขณะที่ 9% อาจตัดสินใจปิดกิจการถาวร ส่วน 30% จะชะลอการลงทุนออกไปก่อน และ 9% ปรับตัวไปทำธุรกิจอื่น”
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบส่วนใหญ่ เหฌนด้วยกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย 72% และคาดว่าแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะล่าช้าออกไปประมาณ 45% โดยผลต่ออัตราการเข้าพักของโรงแรมที่เปิดรับนักท่องเที่ยวตามโครงการ แซนด์บ็อกซ์ นำร่องพื้นที่ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) เริ่มเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ชี้ว่า 38% ของโรงแรมในภูเก็ตมองว่าแย่กว่าที่คาด ส่วน 35% มองว่าเป็นไปตามคาด โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทรงตัวที่ 15% ขณะที่ 52% ของโรงแรมในสุราษฎร์ธานีมองว่าแย่กว่าที่คาด อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำมากที่ 4%
นอกจากนี้ โรงแรม ASQ จำนวน 14 แห่ง พบว่ามีการฟื้นตัวของรายได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่เป็น ASQ โดย 27% มีรายได้กลับมาเกินครึ่งหนึ่งแล้ว ส่วนมิติการจ้างงาน ใกล้เคียงโรงแรมทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 51% อัตราการเข้าพักลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน และสูงกว่ากลุ่มที่ไม่เป็น ASQ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 22% และ 15% ในเดือนส.ค. และ ก.ย. ตามลำดับ
ด้านฮอสพิเทล จำนวน 5 แห่ง พบว่าการฟื้นตัวของรายได้ไม่ต่างจากโรงแรมทั่วไป โดย 60% รายได้ยังกลับมาไม่ถึง 10% ขณะที่อัตราการจ้างงานสูงกว่าระบบเล็กน้อยเฉลี่ยที่ 62% อัตราการเข้าพักลดลงมากจากเดือนก่อน แต่ยังสูงกว่ากลุ่มอื่น โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของเดือนส.ค. อยู่ที่ 23% ส่วนเดือนก.ย.นี้ จะอยู่ที่ 25%