รีเซต

เอกชนหนุน 'ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว' พื้นที่สีแดง อย่างน้อย 14-30 วัน ชี้ไม่มีใครออกเที่ยวแล้ว

เอกชนหนุน 'ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว' พื้นที่สีแดง อย่างน้อย 14-30 วัน ชี้ไม่มีใครออกเที่ยวแล้ว
มติชน
25 เมษายน 2564 ( 08:38 )
113
เอกชนหนุน 'ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว' พื้นที่สีแดง อย่างน้อย 14-30 วัน ชี้ไม่มีใครออกเที่ยวแล้ว

เมื่อวันที่ 24 เมษายน นายภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ ผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ยอมรับตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่ 3 จะทำให้รายได้การท่องเที่ยวในไทยในปีนี้ไปไม่ถึง 1 ล้านล้านบาท

 

 

อย่างไรก็ตามความหวังของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือเรื่องวัคซีน จะเป็นตัวช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ฟื้นการท่องเที่ยว ต้องมีการฉีดให้ได้มากถึง 70% ของประชากร ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะรีบนำเข้าวัคซีนได้มากแค่ไหน

 

 

นายภูริวัจน์ กล่าวว่า สำหรับแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในพื้นที่แซนบ็อกซ์ จ.ภูเก็ต 1 กรกฎาคมนี้ เห็นว่ายังไม่น่าจะเปิดได้ เพราะดูสถานการณ์การระบาดยังไม่คลี่คลายนัก แต่ถ้าสถานการณ์การระบาดลดลง ก็น่าจะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตามแผน ก็ต้องมีการฉีดวัคซีนให้คนในพื้นที่ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และคนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย อย่าง มัคคุเทศก์ ร้านอาหาร รถเช่า เป็นต้น เพราะเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น คนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเป็นผู้สร้างรายได้ให้กับประเทศ

 

 

“ทางสมาคมฯเห็นว่า จะทำอย่างไรให้การแพร่ระบาดลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลจะประเมินความรุนแรงของการแพร่ระบาด ระยะเวลาการแพร่ระบาดว่าจะยาวไปมากแค่ไหน เพราะว่าการท่องเที่ยวตอนนี้ ไม่มีใครออกมาท่องเที่ยวกันแล้ว คิดว่าเป็นการให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนตัดสินใจว่าจะมีการล็อกดาวน์หรือไม่ เป็นการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดง ไม่ได้เป็นล็อกดาวน์ทั้งประเทศอย่างน้อย 14-30 วัน อย่างในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีการระบาดรุนแรงมากขึ้น เพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า มีการเปิดปิด เวลาที่สั้นลง” นายภูริวัจน์ กล่าว

 

 

นายภูริวัจน์ กล่าวว่า ส่วนมาตรการเยียวยาภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก็ได้มีการขอไปก่อนหน้านี้นานมากแล้ว ทั้งเรื่องซอฟต์โลน การเข้าถึงสินเชื่อ การพักชำระหนี้ การชดเชยประกันสังคมตามมาตรา33 เป็นต้น ธุรกิจได้รับผลกระทบมาปีกว่าแล้ว ต้องรอดูภาครัฐว่าจะมีมาตรการการเยียวยาเพิ่มเติมอย่างไรต่อไป เหมือนกับว่าภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบก่อน แต่ว่าได้รับการเยียวยาท้ายสุด ทั้งนี้การออกมาตรการช่วยเหลือจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย โครงการสินเชื่อฟื้นฟู และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ทางสมาคมฯได้มีการสำรวจผู้ประกอบการ พบว่ามีความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะก่อนนี้มาตรการที่ออกมาไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง