รีเซต

เตรียมเข้าสู่ “ฤดูร้อน” เริ่มปลาย ก.พ. คาดร้อนทำลายสถิติ

เตรียมเข้าสู่ “ฤดูร้อน” เริ่มปลาย ก.พ. คาดร้อนทำลายสถิติ
TNN ช่อง16
21 กุมภาพันธ์ 2567 ( 17:45 )
66

ประชาชนกำลังเดินทางในช่วงบ่ายที่ผ่านมาทามกลางอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งแต่ละคนได้มีการนำร่มหรือแม้กระทั้งสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมาบังแดดระหว่างเดินทาง


โดยเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา เพจ “พยากรณ์อากาศประเทศไทย” ได้เปิดเผยภาพวิเคราะห์สภาพอากาศระหว่างวันที่ 19-25 ก.พ.นี้ โดยเป็นสภาพอากาศในช่วงเวลา 13.00 น.ของแต่ละวัน โดยพบว่ากราฟแสดงสภาพอากาศนั้นอยู่ในโซนสีแดง ไปถึงดำ ซึ่งหมายถึงสภาพอากาศร้อนจัดทั้งนี้ ในช่วงอากาศร้อนจัด การดูแลสุขภาพควรหลีกเลี่ยงการทำงานกลางแดด และดื่มน้ำให้เพียงพอ

ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดเริ่มต้นฤดูร้อนปลายก.พ.นี้ พร้อมเปิด 5 จังหวัด อากาศร้อนติดอันดับที่สุดในปี 2567 ได้แก่แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก และอุดรธานี


ว่าที่ร้อยตรีธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะประกาศเข้าสู่ฤดูร้อนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก่อนวันที่ 29 กุมภาพันธ์

และช่วงที่ร้อนที่สุด จะอยู่ในเดือนเมษายน ซึ่งดวงอาทิตย์จะโคจรเข้ามาตั้งฉากกับประเทศไทย แต่อุณหภูมิสูงที่สุดจะถึง 45 องศาเซลเซียสหรือไม่ และจะทำลายสถิติประเทศไทยหรือไม่ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย


สำหรับ 5 จังหวัดร้อนจัดที่สุด คาดอุณหภูมิสูงสุด ตั้งแต่ 44 องศาเซลเซียส ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก และอุดรธานี

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องดัชนีความร้อน หรือ Heat index ซึ่งจะมีปัจจัยเรื่องความชื้นสัมพัทธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้คนเราจะรู้สึกร้อน อึดอัด ร้อนกว่าอุณหภูมิรอบตัวที่วัดได้


ส่วนสถานการณ์ปริมาณน้ำทั่วประเทศ พบว่า ปีนี้มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2566 ทำให้ต้องมีการควบคุมการใช้น้ำ ขณะที่ แผนและผลการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/2567 ทั่วประเทศ ทั้งนอกและในเขตชลประทาน 10.66 ล้านไร่  แต่เพาะปลูกแล้ว 11.79 ล้านไร่ หรือร้อยละ 111  ซึ่งเกินกว่าแผนการเพาะปลูก

โดยเฉพาะแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศ 8.13  ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 10.41 ล้านไร่  หรือร้อยละ 122 ซึ่งเกินกว่าแผนการเพาะปลูก ส่วนแผนเพาะปลูกพืชไร่ พืชผักทั้งประเทศ 2.53 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 1.38 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 55  ของแผนการเพาะปลูก

ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยมีทั้งหมด 4 แห่ง คือ  เขื่อนสิริกิติ์ ในภาคเหนือ เขื่อนจุฬาภรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนคลองสียัด ภาคตะวันออก และเขื่อนกระเสียว ภาคกลาง(เมื่อวันที่ 21 ก.พ.67)

ภาพโดย: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์



ข่าวที่เกี่ยวข้อง