รีเซต

"ยุทธพงศ์" ลุกถามรบ. ปมหวยแพง-เรียกคืนเบี้ยคนชรา ด้าน นายกฯส่ง "จุติ" โร่แจง

"ยุทธพงศ์" ลุกถามรบ. ปมหวยแพง-เรียกคืนเบี้ยคนชรา ด้าน นายกฯส่ง "จุติ" โร่แจง
มติชน
4 กุมภาพันธ์ 2564 ( 12:39 )
51

“ยุทธพงศ์”ถามทั้งหวยราคาแพง และ เบี้ยงยังชีพ ด้าน “จุติ”แจงหลายหน่วยงานกำลังแก้ปัญหาอยู่ เผย 5 ก.พ.กก.ผู้สูงอายุแห่งชาติ ถกเบี้ยคนชรา ยันไม่มีเรียกเงินคืน

 

เมื่อวันที่ 11.00 น.วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดของ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ถามนายกรฐมนตรีถึงการแก้ปัญหาขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา 80 บาทต่อฉบับอย่างไร ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า จะจริงจังในการแก้ปัญหา แต่จนถึงขณะนี้พบว่า ปัญหายังเกิดขึ้น ซึ่งกระทบต่อผู้ขายสลากรายย่อยในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน

 

ด้าน นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้แจงแทนนายกฯ ว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาขายสลากฯเกินราคา ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานสลากฯ แก้ปัญหา เช่น การเพิ่มเบี้ยปรับหากพบการขายสลากเกินราคา อย่างไรก็ตาม สำหรับต้นเหตุของราคาที่แพง เพราะเข้าไม่ถึงการซื้อสลากได้ตามราคาขายที่ 70 บาทได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับไปพิจารณา โดยประสานกับกระทรวงการคลัง

 

จากนั้น นายยุทธพงศ์ ได้ถามถึงปัญหาการเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ย้อนหลังกรณีที่พบว่า รับสวัสดิการซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นความผิดของหน่วยงานราชการ ไม่ใช่ความผิดของคนชรา การถูกเรียกคืนเบี้ยคนชรา ถือว่าน่าเห็นใจ รัฐบาลต้องชี้แจงถึงการรับเบี้ยคนชราว่า เมื่อถูกเรียกคืนแล้วจะได้ต่อไปหรือไม่ รวมถึงต้องดำเนินการกับกรมบัญชีกลางด้วย อย่างไรก็ตาม ในหลักเกณฑ์ที่ไม่ให้รับค่าตอบแทนซ้ำซ้อน ตนขอฝากกรมบัญชีกลางพิจารณาการรับค่าตอบแทนหลายทางของ อดีตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ผ่านมาด้วย เพราะเป็นมูลค่ารวมสูงกว่าคนละ 10 ล้านบาท

 

นายจุติ ชี้แจงว่า การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เกิดขึ้นเมื่อปี 52 ซื่งมีประชากรไม่มาก แต่ปี 64 พบว่ามีประชากรผู้สูงอายุ มากถึง 20% ของประชากร หรือจำนวน 12 ล้านคน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นได้แก้ไขโดยติดต่อไปยังผู้สูงอายุ ว่า หากได้รับการติดต่อขอเงินคืนให้ติดต่อทนาย นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรี ให้บูรณาการแก้ปัญหา ไม่ให้ผู้สูงอายุเดือดร้อน และต้องทำตามกฎหมาย โดยในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการประชุมด่วน ของกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จะหาทางแก้ปัญหาทางกฎหมาย ทั้งนี้มีข้อสรุปตรงกันว่าไม่ควรเรียกเงินคืน ส่วนกรณีที่คนชราได้รับบำนาญพิเศษนั้น ตรวจสอบแล้วพบว่ามีบำนาญพิเศษมากถึง 24 ประเภท และมีบำเหน็จตกทอด ดังนั้นกรรมการจะพิจารณาให้ความเป็นธรรม หรือกรณีได้มาโดยอาจจะแจ้งไม่ถูกต้อง ก็จะพิจารณาเป็นรายบุคคล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง