รีเซต

รัฐบาล ดี๊ด๊า! 'มูดี้ส์' คงอันดับน่าเชื่อถือไทย 'บีโอไอ' ชี้ ต่างชาติขอรับการส่งเสริมการลงทุนครึ่งปีแรก กว่า 3.8 แสนล้าน

รัฐบาล ดี๊ด๊า! 'มูดี้ส์' คงอันดับน่าเชื่อถือไทย 'บีโอไอ' ชี้ ต่างชาติขอรับการส่งเสริมการลงทุนครึ่งปีแรก กว่า 3.8 แสนล้าน
มติชน
26 สิงหาคม 2564 ( 12:03 )
66

รัฐบาล ดี๊ด๊า! ‘มูดี้ส์’ คงอันดับน่าเชื่อถือไทย ‘บีโอไอ’ ชี้ ต่างชาติขอรับการส่งเสริมการลงทุนครึ่งปีแรก กว่า 3.8 แสนล้าน เพิ่ม 158% ลุยเพิ่มสิทธิประโยชน์ดึงนักลงทุน

 

 

 

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 นับตังแต่ปีที่แล้ว เศรษฐกิจประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานทางการเงินการคลังล่าสุด บริษัท Moody’s Investors Service ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) จากปัจจัยสำคัญ คือ ไทยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่และหลากหลาย ภาครัฐมีฐานการเงินที่เข็มแข็ง ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) มีความแข็งแกร่ง หนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 8 สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลสกุลเงินต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำมาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 2 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ

 

 

 

ขณะเดียวกัน ตัวเลขมูลค่าการส่งออกและการลงทุนในประเทศ เป็นอีกสองตัวชี้วัดถึงโอกาสฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานว่า การส่งออกในช่วงเดือนม.ค.-ก.ค.ปี64 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 16.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเกินดุลการค้าอยู่ 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการลงทุนในประเทศ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานภาวะการลงทุนครึ่งปีแรกของปี 64 ว่า มีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน 801 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 3.86 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 158% ประเทศที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนที่มีมูลค่าลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน และเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในประเทศมากขึ้นอีก BOI ได้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ประกอบด้วย 1) การทำวิจัยและพัฒนา (R&D) ยกเว้นภาษีฯ 300% 2) สนับสนุนกองทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากร สถาบันการศึกษา ศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกเว้นภาษีฯ 100% 3) ฝึกอบรมหรือฝึกการทำงาน เพื่อพัฒนาทักษะเทคโนโลยี และนวัตกรรมให้กับนักศึกษาฝึกงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกเว้นภาษีฯ 200% 4) ค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิเทคโนโลยีที่พัฒนาในประเทศ ยกเว้นภาษีฯ 200% 5) การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ยกเว้นภาษีฯ 200% 6) พัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศ ยกเว้นภาษีฯ 200% 7) การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ยกเว้นภาษีฯ 200% โดยจะได้รับระยะเวลายกเว้นภาษีสูงสุด 3 ปี

 

 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติ และยังได้รับการประเมินทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ หลังจากผ่านช่วงโควิด19 นี้ไป มูดี้ส์ ยังคาดว่าการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะช่วยเพิ่มการลงทุน การจ้างงานของภาคเอกชนและอุปสงค์ภายในประเทศอีกมาก และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างแน่นอน ควบคู่กันไป รัฐบาลได้เดินหน้านโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีและเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ที่สำคัญ หวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันแสดงความเห็นต่างทางการเมืองอยู่บนวิถีประชาธิปไตยในกรอบกฎหมาย เพื่อไม่ให้กระทบโอกาศเติบโตทางเศรษฐกิจ และบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุนของประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง