ไทยดึงลงทุนแบตฯ ระดับเซลล์ต่อยอดอีวี

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้เร่งผลักดันลงทุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ทั้งเพื่อยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงานสำหรับ ภาคอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ของภูมิภาค
ทั้งนี้ได้มีการส่งเสริมการลงทุนในกิจการ ผลิตแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงาน ทั้งแบตเตอรี่ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ ความจุสูงสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีการกำหนด สิทธิประโยชน์ตามขั้นตอนการผลิต
สำหรับสิทธิประโยชน์การลงทุนได้กำหนดให้สอดคล้องกับระดับของกระบวนการผลิต โดยหากผู้ประกอบการผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี แบบไม่จำกัดวงเงิน
พร้อมได้รับการยกเว้นอากรขาเข้า เครื่องจักรและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก และยังลดหย่อนอากรขาเข้า สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเพื่อจำหน่าย ในประเทศถึงร้อยละ 90
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการนำเซลล์แบตเตอรี่มาผลิตเป็นโมดูลหรือแบตเตอรี่แพ็ก (Module หรือ Battery Pack) ก็ยังได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านอากรเช่นเดียวกัน
ขณะที่กรณีที่นำโมดูลมาผลิตเป็นแบตเตอรี่แพ็ก จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี และได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีมาตรการพิเศษเพื่อดึงดูดผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ระดับโลกเข้ามาลงทุน โดย คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศสำหรับ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมเฉพาะกิจ
ทั้งนี้ มีเงื่อนไขสำหรับผู้ขอรับการส่งเสริม การลงทุนจะต้องเป็นผู้ผลิตที่ได้รับการยอมรับ จากค่ายรถยนต์ไฟฟ้า และต้องผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ที่มีค่าพลังงานจำเพาะไม่น้อยกว่า 150 วัตต์-ชั่วโมงต่อกิโลกรัม (Wh/Kg) และมีจำนวนรอบการชาร์จอย่างน้อย 1,000 รอบ อีกทั้งต้องยื่นข้อเสนอโครงการลงทุนภายในปี 2570
ภายใต้มาตรการนี้นักลงทุนจะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านการเงิน การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดไม่เกิน 15 ปี การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและ วัตถุดิบ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี