รีเซต

บีโอไอดึงลงทุนผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์-ออนไลน์ คาดโควิด-5จีดันธุรกิจบริการบูม

บีโอไอดึงลงทุนผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์-ออนไลน์ คาดโควิด-5จีดันธุรกิจบริการบูม
มติชน
6 เมษายน 2563 ( 10:44 )
91

บีโอไอดึงลงทุนผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์-ออนไลน์ หวังโควิดจบโรดโชวเข้มข้น โควิด-5จีดันลงทุนปรับปรุงโรงงาน-กิจการดิจิทัลมาแรงเม็ดเงินแตะ60% แซงอุตฯขนาดใหญ่

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยถึงภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนของประเทศ ว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับการลงทุน เพราะไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การลงทุนหยุดชะงัก ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ปีนี้บีโอไอยังไม่มีการกำหนดตัวเลขเป้าหมายคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน หลังจากปี 2562 มีคำขอเข้ามาทั้งสิ้น 7.56 แสนล้านบาทตามเป้าหมาย 7.5 แสนล้านบาท เนื่องจากต้องการรอดูสถานการณ์ก่อน ดังนั้นเวลานี้บีโอไอจึงเน้นการชักจูงการลงทุน(โรดโชว์)ผ่านเทคโนโลยีด้านดิจิทัล อาทิ การหารือกับผู้ประกอบการประเทศต่างๆผ่านการวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ จากปกติจะใช้วิธีเคาะประตูบ้านส่งเจ้าหน้าที่ไปพบปะเอง นอกจากนี้ในกระบวนการด้านเอกสาร การอนุมัติอนุญาตต่างๆ ก็ใช้แนวทางออนไลน์ทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการให้มากที่สุด และเป็นการปฏิบัติตามมาตรการรัฐบาลเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19

“บีโอไอคาดหวังว่าว่าสถานการณ์ภาพรวมจะควบคุมได้และจบลงภายในกลางปีนี้ หลังจากนั้นบีโอไอจะเริ่มเดินตามแผนการชักจูงการลงทุน(โรดโชว์)อย่างเข้มข้นก่อนหมดปีงบประมาณ 2563″นายนฤตม์กล่าว

นายนฤตม์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบันบีโอไอประเมินว่ามาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์อัตโนมัติ น่าจะเป็นคำขอที่มาแรงที่สุด เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้รูปแบบการทำงาน ประกอบธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป อาจมีความต้องการนำเทคโนโลยี หุ่นยนต์ เข้ามาช่วยในการทำงาน หรือปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้อีกอุตสาหกรรมที่มาแรง คือการยื่นขอลงทุนในกิจการดิจิทัลเพื่อรองรับการประชุม การปฏิบัติงานออนไลน์มากขึ้น ของผู้ประกอบการที่คิดค้นเทคโนโลยี แฟลตฟอร์ม บวกกับไทยเพิ่งมีการประมูลเทคโนโลยี 5จี จะเป็นตัวเสริมให้กิจการดิจิทัลมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของทุกคน ทั้งหมดนี้จะทำให้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพฯ และกิจการกลุ่มธุรกิจบริการ จะเป็นธุรกิจที่มีแรง มีจำนวนคำขอ และมูลค่าลงทุนที่สูง โดยสัดส่วนคำขอลงทุนธุรกิจบริการมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 50-60% จากการลงทุนทั้งหมดของไทย ในปี 2562-63 นี้ ใกล้เคียงกับการลงทุนของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศเลยทีเดียว

นายนฤตม์ กล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่บีโอไอประกาศใช้ยุทธศาสตร์ใหม่เมื่อปี 2558 จนถึงสิ้นปี 2562 มีโครงการลงทุนในธุรกิจบริการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ จำนวน 2,854 โครงการ เพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้า (ปี 2553 – 57) คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของโครงการที่มายื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 821,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% ซึ่งในภาคบริการ เม็ดเงินลงทุนจะไม่ได้สูงเท่าภาคการผลิต แต่มีมูลค่าเพิ่มที่เกิดกับระบบเศรษฐกิจสูงมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง