รีเซต

เงินเฟ้อ-เฟด ชี้ชะตา ทิศทางทองคำ ปี 65 I TNN Wealth

เงินเฟ้อ-เฟด ชี้ชะตา ทิศทางทองคำ ปี 65 I TNN Wealth
TNN ช่อง16
9 กุมภาพันธ์ 2565 ( 09:57 )
117

ย้อนดูสถานการณ์ทองคำในปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากรายงานแนวโน้มความต้องการทองคำปี 2564 ของสภาทองคำโลก (World Gold Council) พบว่า ความต้องการทองคำทั่วโลก ไม่นับรวมการซื้อขายแบบ over-the-counter (OTC) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4,021 ตัน โดยได้แรงหนุนจากความต้องการในไตรมาส 4 ที่เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ไตรมาส หรือ 2 ปีครึ่ง ความต้องการทองคำฟื้นตัวขึ้นมากหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2563 ทั้งความต้องการทองคำที่เป็นเครื่องประดับ และทองคำสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่ฟื้นตัวตลอดทั้งปีตามการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น ขณะที่ธนาคารกลางซื้อทองคำในปีที่แล้วมากกว่าปี 2563 รวมทั้งมีความต้องการลงทุนท่ามกลางปัจจัยต่าง ๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อสูงแข่งกับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น 


 

ที่มา : World Gold Council

 


 

ความต้องการเครื่องประดับทองคำในปี 2564 อยู่ที่ 2,123.6 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 นับเป็นการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งนับตั้งแต่ปี 2562 โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ที่ความต้องการอยู่ที่ 713 ตัน ถือเป็นความต้องการที่แข็งแกร่งสุดรายไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งอินเดียเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในไตรมาสที่ 4 แต่ความต้องการเครื่องประดับในตลาดทั่วโลกแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบปีต่อปี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และมาตรการจำกัดพื้นที่ หรือล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวดลดลง 


ที่มา : ICE Benchmark Administration, Metals Focus, Refinitv GFMS, World Gold Council

 

 


ทองคำที่ใช้ในภาคเทคโนโลยีเมื่อปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 อยู่ที่ 330 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี แม้ความต้องการด้านเทคโนโลยียังน้อยกว่าภาคส่วนอื่น ๆ แต่ทองคำถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายประเภท อยู่ที่ 272 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปี 2563 ส่วนความต้องการทองคำที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ฟื้นตัวเช่นกัน อยู่ที่ 47 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ยกเว้นความต้องการด้านทันตกรรมที่ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงร้อยละ 4 อยู่ที่ 11 ตัน 


ที่มา : Metals Focus, Refinitv GFMS, World Gold Council 

 

 


ในแง่การลงทุนทองคำเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งแบ่งเป็นทองคำแท่งและเหรียญทองคำ กับกองทุนรวม (ETF) ที่อิงกับทองคำ ลดลงร้อยละ 43 อยู่ที่ 1,007 ตัน ในส่วนความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 แตะระดับสูงสุดในรอบ 8 ปีที่ 1,180 ตัน ซึ่งความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 318 ตัน มากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 4 ของปี นับตั้งแต่ปี 2559 ปัจจัยหลักที่ทำให้ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำเพิ่มขึ้นมาจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และเยอรมนี ที่ความต้องการส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาก สำหรับการถือครอง ETF ที่อิงกับทองคำ ลดลง 173 ตัน ในปี 2564 ซึ่งแตกต่างจากในปี 2563 ที่อยู่ที่ 874 ตัน เนื่องจากนักลงทุนปรับสัดส่วนการลงทุนตามสภาวะของตลาด บางรายได้ลดการป้องกันความเสี่ยงในช่วงต้นปี เมื่อประชาชนทั่วไปเริ่มได้รับวัคซีนป้องกันโควิด ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้การถือครองทองคำมีราคาแพงขึ้น แต่การไหลออกของทองคำมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับทองคำปริมาณถึง 2,200 ตัน ที่กองทุน ETF ได้สะสมไว้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 


ที่มา : Metals Focus, World Gold Council

 


 

ในส่วนของธนาคารกลางทั่วโลกมียอดซื้อทองคำสุทธิติดต่อกันนานถึง 12 ปี (2553-2564) โดยในปี 2564 มีปริมาณการซื้ออยู่ที่ 463 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 82 เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มียอดซื้อสุทธิต่ำสุดในรอบทศวรรษที่ 255 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อในช่วงครึ่งแรกของปีที่แล้ว ราว 324 ตัน และชะลอตัวในครึ่งหลังของปีอยู่ที่ 139 ตัน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกมีทองคำสำรองรวมกันเกือบ 35,600 ตัน สูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี 


ที่มา : Metals Focus, Refinitv GFMS, World Gold Council 

 



ธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่ซื้อทองคำเพิ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยมีธนาคารกลาง 15 แห่ง ซื้อทองคำสุทธิ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซื้อทองคำมากที่สุดราว 90 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับปี 2563 ส่งผลให้ ธปท. ถือครองทองคำอยู่ที่ 244 ตัน คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 6 ของทุนสำรองทั้งหมด และกลายเป็นธนาคารกลางที่มีปริมาณการถือครองทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รองลงมาเป็นธนาคารกลางอินเดียที่ซื้อทองคำในปีที่แล้ว 77 ตัน มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งซื้อทองคำ 200 ตัน จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และอันดับ 3 คือ ธนาคารกลางฮังการีที่ซื้อทองคำ 63 ตันในปีที่แล้ว เพิ่มปริมาณทองคำสำรอง 3 เท่าจากเดิม ขณะที่การซื้อทองคำของธนาคารกลางไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะตลาดเกิดใหม่เท่านั้น นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษที่มีการซื้อทองคำจำนวนมากจากธนาคารกลางในตลาดพัฒนาแล้ว โดยในไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ซื้อทองคำเพิ่มกว่า 26 ตัน เป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบอย่างน้อย 21 ปี ตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูล ส่งผลให้สิงคโปร์มีทองคำสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 154 ตัน หรือเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ของทุนสำรองทั้งหมด 


รายงานยังระบุด้วยว่า ราคาทองคำในปี 2564 ลดลงราวร้อยละ 4 ส่งท้ายปีที่ 1,806 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ราคาเฉลี่ยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,799 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สูงกว่าราคาเฉลี่ยในปี 2563 ราว ๆ ร้อยละ 2 และยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับนี้ ด้านการผลิตทองคำในปีที่แล้ว อยู่ที่ 4,666.1 ตัน ลดลงร้อยละ 1 จากปีก่อนหน้า และเป็นการลดลงต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน ถือเป็นครั้งแรกที่การผลิตทองคำลดลลงติดกันในรอบกว่าทศวรรษ โดยการผลิตจากเหมืองทองคำมีปริมาณอยู่ที่ 3,561 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 แต่ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าปี 2562 เล็กน้อย เช่นเดียวกับการขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้ผลิต (Net Producer Hedging) ที่อยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2557 และปริมาณการรีไซเคิลทองคำอยู่ที่ 1,150 ตัน ลดลงร้อยละ 11


ในส่วนของไทย ปี 2564 มีการซื้อทองคำสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาค รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ปริมาณการซื้อทองคำต่อหัวสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสิงคโปร์ ทั้งยังสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างกลุ่มประเทศยุโรป อังกฤษ และฝรั่งเศส ส่วนใหญ่เป็นความต้องการซื้อของผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดทองรูปพรรณ 

สภาทองคำโลกยังจัดทำรายงานแนวโน้มทองคำปี 2565 แยกออกมา โดยประเมินว่า ในปีนี้ทองคำอาจเผชิญกับความเคลื่อนไหวที่คล้ายกับเมื่อปีที่แล้ว แต่จะเผชิญกับแนวโน้มที่ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งถือเป็น 2 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางทองคำ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณที่จะใช้มาตรการเข้มงวดขึ้น โดยจากประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (dot plot) คาดว่าน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ภายใต้โครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) 



แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ แต่ประสบการณ์จากอดีตสะท้อนว่า ผลกระทบมีจำกัด และไม่ใช่ว่าธนาคารกลางทุกแห่งจะพร้อมใจกันขึ้นดอกเบี้ย เพราะต้องการประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไปก่อน เมื่อประกอบกับสถานการณ์เงินเฟ้อในระดับสูง ทำให้ยังมีความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง

ที่มา : Bloomberg, ICE Benchmark Administration, World Gold Council

 


มีหลายเหตุผลที่ทำให้สภาทองคำโลกประเมินว่า เงินเฟ้อในปีนี้มีแนวโน้มจะทรงตัวที่ระดับสูง ซึ่งไม่ใช่แค่ผลจากนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่ยังรวมถึงปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ ภาวะตลาดงานตึงตัวและความเหนื่อยล้าจากวิกฤตไวรัสทำให้คนมองหางานใหม่ที่ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยสูงขึ้นกว่าก่อนวิกฤตไวรัสทำให้เงินในระบบมีมาก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่แพงขึ้น ที่ผ่านมา ทองคำสามารถทำผลงานได้ดีท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูง โดยในปีที่เงินเฟ้อสูงกว่าร้อยละ 3 ราคาทองคำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14 เทียบกับช่วงที่เงินเฟ้อต่ำกว่าร้อยละ 3 ราคาทองคำเพิ่มขึ้นราวๆ ร้อยละ 7


รายงานสรุปว่า ทิศทางของทองคำโลกในปีนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ การที่ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ (Nominal Interest Rate) และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ แต่ผลกระทบเชิงลบดังกล่าวอาจถูกชดเชยจากปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อในระดับสูง ความผันผวนในตลาดจากสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การระบาดของโควิด-19 และภูมิศาสตร์การเมืองที่ร้อนระอุ รวมถึงปัจจัยจากความต้องการบริโภคทองคำที่เพิ่มขึ้น อาทิ การซื้อทองคำของธนาคารกลาง และความต้องการซื้อเครื่องประดับทอง ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มทองคำในระยะยาว 



#เฟด #เงินเฟ้อ #ทองคำ  #TNNWealth #TNNช่อง16
ติดตามข่าวหุ้นและการลงทุนทางไลน์
• Line @TNNWEALTH : https://lin.ee/TQ14oAe
—————————————————————————
ติดตาม TNN Wealth ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 
หรือดูรายการ Live ได้ทาง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง