รีเซต

กทม.จับมือ ศาลอาญา-เครือข่าย เอ็มโอยูให้ผู้ต้องโทษ "บริการสังคมแทนจ่ายค่าปรับ"

กทม.จับมือ ศาลอาญา-เครือข่าย เอ็มโอยูให้ผู้ต้องโทษ "บริการสังคมแทนจ่ายค่าปรับ"
มติชน
16 มิถุนายน 2563 ( 17:07 )
201
กทม.จับมือ ศาลอาญา-เครือข่าย เอ็มโอยูให้ผู้ต้องโทษ "บริการสังคมแทนจ่ายค่าปรับ"
กทม.จับมือ ศาลอาญา-เครือข่าย เอ็มโอยูให้ผู้ต้องโทษ “บริการสังคมแทนจ่ายค่าปรับ”

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) โครงการทำงานบริการสังคม หรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในศาลอาญา ระหว่าง กทม. ศาลอาญา กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กรมคุมประพฤติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) โดยมี นายชูขัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นประธาน นายประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการ วธ. นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ และ พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น. ร่วมลงนาม ในการนี้ นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกาและประธานที่ปรึกษาโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใย ฝ่าภัยโควิด” ร่วมเป็นสักขีพยาน ที่ศาลอาญา เขตจตุจักร

 

พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า โครงการทำงานบริการสังคม หรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในศาลอาญา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใย ฝ่าภัยโควิด” โครงการที่ 3 การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น ตามนโยบายของประธานศาลฎีกา เพื่อเป็นการช่วยเหลือและลดภาระแก่คู่ความ และประชาชนผู้ใช้บริการศาลในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่อาจประกอบอาชีพการงานได้ปกติ ทำให้ขาดรายได้

 

“เอ็มโอยูดังกล่าว จะทำให้ผู้ต้องโทษปรับที่ไม่สามารถชำระค่าปรับได้ มีทางเลือกที่จะไม่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับโดยไม่จำเป็น ซึ่งช่วยลดความแออัดในเรือนจำ และลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่กักขัง นอกจากนี้ การทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องโทษปรับ ได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและยังทำให้ผู้ต้องโทษปรับ รู้สึกว่าได้ใช้ความรู้ความสามารถบำเพ็ญความดี ชดเชยให้แก่สังคมผ่านงานที่ทำด้วย” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวและว่า โครงการดังกล่าวจะมีการติดตามประเมินผลร่วมกับหน่วยงานภาคีเป็นระยะ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลทั้งแก่ผู้ต้องโทษปรับเองและสังคมโดยรวม

ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว การตัดสินคดีอาญา ศาลจะใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของทั้งโจทก์และจำเลย หากศาลเห็นว่า จำเลยมิได้กระทำความผิด ศาลจะพิพากษายกฟ้อง แต่หากศาลพิจารณาได้ความว่า มีการกระทำผิดและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยโดยกำหนดวิธีการลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์ และความร้ายแรงของการกระทำความผิด การลงโทษจำคุกจะใช้เฉพาะกรณีที่จำเลยทำความผิดร้ายแรง และน่าจะเป็นอันตรายต่อสังคม เช่น คดีฉ้อโกงประชาชนที่ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1,446 ปี แต่กฎหมายให้ลงโทษจำคุกได้เพียง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) เป็นต้น

แต่หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นความผิดไม่ร้ายแรง จำเลยไม่เคยต้องโทษมาก่อน ศาลอาจกำหนดโทษจำคุก แต่ให้รอการลงโทษไว้ หรือเพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยไม่มีมลทินติดตัว ศาลอาจใช้วิธีการรอการกำหนดโทษแทนก็ได้ เช่น คดีลักเนื้อหมู 2 กิโลกรัม ราคา 248.50 บาท ศาลอาญาพิพากษาให้รอการกำหนดโทษไว้ 1 ปี กรณีดังกล่าวเป็นการใช้มาตรการทางเลือกอื่นนอกจากการลงโทษจำคุก อันเป็นการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทั้งยังเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยอีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นการแสวงหามาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่คู่ความและสังคมสำหรับโทษปรับซึ่งอาจมองว่าเป็นโทษเบา

แต่ถ้าไม่ชำระค่าปรับ ผู้ต้องโทษปรับอาจต้องถูกจำกัดอิสรภาพ ด้วยการกักขังแทนค่าปรับ ศาลอาญาจึงนำนโยบายของประธานศาลฎีกา ที่ให้ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นมาขับเคลื่อนโดยนำการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับมาใช้ในศาลอาญาในเชิงรุก เพื่อเป็นทางเลือกให้จำเลยที่ศาลพิพากษาลงโทษปรับสถานเดียวหรือพิพากษารอการลงโทษและปรับ แต่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าปรับ สามารถยื่นคำร้องขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับต่อศาลชั้นตันได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30/1 ซึ่งปัจจุบันยังมีจำเลยผู้ต้องโทษปรับจำนวนมากที่ไม่ทราบถึงสิทธิดังกล่าว ทำให้ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับเพียงเพราะความยากจน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง