รีเซต

ขสมก.ประกาศ พบพนักงานติดเชื้อ 2 ราย เป็นนายท่าอู่พระราม 9 และกระเป๋ารถเมล์ร้อน สาย 18

ขสมก.ประกาศ พบพนักงานติดเชื้อ 2 ราย เป็นนายท่าอู่พระราม 9 และกระเป๋ารถเมล์ร้อน สาย 18
มติชน
10 มิถุนายน 2564 ( 16:32 )
77
ขสมก.ประกาศ พบพนักงานติดเชื้อ 2 ราย เป็นนายท่าอู่พระราม 9 และกระเป๋ารถเมล์ร้อน สาย 18

 

ข่าววันนี้ 10 มิถุนายน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ออกประกาศพบพนักงานติดเชื้อฯ จำนวน 2 ราย โดยระบุว่า ประกาศคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

 

ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)  ที่ผ่านมาองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กระทรวงคมนาคม  ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติการป้องกันของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด

 

แต่ทั้งนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขออภัยที่ต้องแจ้งให้ทราบว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 นายท่าอู่พระราม 9 เขตการเดินรถที่ 4 เพศชาย อายุ 56 ปี ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารแต่อย่างใด ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ณ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 เวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ได้แจ้งให้ทราบว่า พนักงานคนดังกล่าวเป็นผู้ติดเชื้อฯ จึงให้พนักงานอยู่ที่บ้าน เพื่อรอรถพยาบาลมารับไปรักษาที่โรงแรมบางกอกชฎา ในเวลา 18.00 น.

 

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว จากผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 4 จึงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ดังต่อไปนี้

 

1. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีการแจ้งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้งรายละเอียดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) (ตามแนวทางปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อฯ) โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข

 

2. พนักงานผู้ติดเชื้อ ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะทำงาน และล้างมือ
ด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้ง มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนเข้าทำงานทุกครั้ง โดยไทม์ไลน์ของพนักงานผู้ติดเชื้อฯ สรุปได้ ดังนี้

 

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เวลา 14.00 – 01.00 น. ปฏิบัติหน้าที่ในห้องทำงาน ณ อู่พระราม 9 หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที  โดยพนักงานได้ทำงานร่วมกับ นายท่าอู่พระราม 9 เพศชาย อายุ 52 ปี ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อฯ ตามที่องค์การได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564

วันที่ 2 – 3 มิถุนายน 2564 เวลา 14.00 – 01.00 น. ปฏิบัติหน้าที่ในห้องทำงาน ณ อู่พระราม 9 หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 4 มิถุนายน 2564 เวลา 14.00 – 16.00 น. ปฏิบัติหน้าที่ในห้องทำงาน ณ อู่พระราม 9 โดยพนักงานได้รับแจ้งว่า นายท่าอู่พระราม 9 เพศชาย อายุ 52 ปี ซึ่งทำงานร่วมกับพนักงานเป็นประจำเป็นผู้ติดเชื้อฯ

วันที่ 5 มิถุนายน 2564 เวลา 06.30 น. พนักงานได้เดินทางไปที่ ลานจอดรถ MRT ฝั่งถนนวัฒนธรรม เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และเดินทางกลับบ้านในเวลา 10.00 น. โดยพนักงานเริ่มมีอาการปวดศีรษะ

วันที่ 6 มิถุนายน 2564 พนักงานกักตัวอยู่ที่บ้าน ณ แฟลตเคหะบางกะปิ 1

วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลซีจีเอช แจ้งผลการตรวจให้ทราบว่า พนักงานไม่พบเชื้อฯ

วันที่ 8 มิถุนายน 2564 เวลา 09.30 น. พนักงานได้เดินทางไปที่ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ครั้งที่ 2 และเดินทางกลับบ้าน ในเวลา 15.30 น.

วันที่ 9 มิถุนายน 2564 เวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ได้แจ้งให้ทราบว่า พนักงานเป็นผู้ติดเชื้อฯ จึงให้อยู่ที่บ้าน เพื่อรอรถพยาบาลมารับไปรักษาที่ โรงแรมบางกอกชฎาในเวลา 18.00 น.

 

3. ผู้ติดเชื้อฯ เป็นนายท่าอู่พระราม 9 จึงไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารแต่อย่างใด นอกจากนี้ องค์การได้ทำการฉีดพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในรถยนต์ส่วนกลาง ของเขตการเดินรถที่ 4 รวมถึงห้องทำงาน และบริเวณโดยรอบสถานที่ทำการ อู่พระราม 9

 

4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ให้พนักงานที่ทำงานใกล้ชิดกับหัวหน้างานผู้ติดเชื้อฯ หยุดงานไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) หากได้ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

 

นอกจากนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 พนักงานเก็บค่าโดยสารรถธรรมดา สาย 18 เพศชาย อายุ 41 ปี ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ณ สถาบันบำราศนราดูร ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่สถาบันฯ ได้แจ้งให้ทราบว่าพนักงานคนดังกล่าวเป็นผู้ติดเชื้อฯ จึงให้พนักงานอยู่ที่บ้านเพื่อรอรถพยาบาลมารับไปรักษาที่ โรงพยาบาลบุษราคัม อิมแพคเมืองทองธานี ในเวลา 14.00 น.

 

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว จากผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 7 จึงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ดังต่อไปนี้

 

1. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีการแจ้งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้งรายละเอียดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) (ตามแนวทางปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อฯ) โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข

 

2. พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้ง มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง ซึ่งอุณหภูมิร่างกายของพนักงาน ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม – 9 มิถุนายน 2564 อยู่ที่ 36.5 องศาเซลเซียส โดยไทม์ไลน์ของพนักงานสรุปได้ ดังนี้

 

วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 18 หมายเลข 7 – 50190 ตั้งแต่เวลา 05.20 – 11.10 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที  โดยพนักงานได้ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับ พนักงานขับรถโดยสาร เพศชาย อายุ 50 ปี ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อฯ ตามที่องค์การได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564

วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 18 หมายเลข 7 – 50163 ตั้งแต่เวลา 05.50 – 11.10 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 18 หมายเลข 7 – 50180 ตั้งแต่เวลา 06.40 – 13.10 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 29 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 18 หมายเลข 7 – 50195 ตั้งแต่เวลา 07.40 – 13.10 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00 น. พนักงานได้เดินทางไปที่ สถานีกลางบางซื่อ เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และเดินทางกลับบ้านในเวลา 14.00 น. โดยพนักงานเริ่มมีอาการคอแห้ง และแสบคอ

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 วันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานพักอาศัยอยู่ที่บ้าน

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 18 หมายเลข 7 – 50190 ตั้งแต่เวลา 04.30 – 10.20 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 2 มิถุนายน 2564 พนักงานลาหยุด โดยพักอาศัยอยู่ที่บ้าน

วันที่ 3 มิถุนายน 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 18 หมายเลข 7 – 50507 ตั้งแต่เวลา 06.00 – 12.50 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 4 มิถุนายน 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 18 หมายเลข 7 – 50355 ตั้งแต่เวลา 06.20 – 12.35 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 5 มิถุนายน 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 18 หมายเลข 7 – 50263 ตั้งแต่เวลา 07.40 – 14.50 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัย

วันที่ 6 มิถุนายน 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 18 หมายเลข 7 – 50190 ตั้งแต่เวลา 12.40 – 18.15 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัย

วันที่ 7 มิถุนายน 2564 วันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานพักอาศัยอยู่ที่บ้าน

วันที่ 8 มิถุนายน 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 18 หมายเลข 7 – 50163 ตั้งแต่เวลา 04.30 – 09.00 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัย

วันที่ 9 มิถุนายน 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 18 หมายเลข 7 – 50375 ตั้งแต่เวลา 04.45 – 12.20 น. ต่อมาเวลา 12.30 น. พนักงานได้เดินทางไปที่ สถาบันบำราศนราดูร เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และเดินทางกลับบ้าน ในเวลา 14.00 น.

วันที่ 10 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่สถาบันบำราศนราดูร ได้แจ้งให้ทราบว่าพนักงานเป็นผู้ติดเชื้อฯ จึงให้อยู่ที่บ้านเพื่อรอรถพยาบาลมารับไปรักษาที่ โรงพยาบาลบุษราคัม อิมแพค เมืองทองธานี  ในเวลา 14.00 น.

 

3. เมื่อพนักงานขับรถโดยสารนำรถกลับเข้าอู่ในแต่ละรอบ จะมีการฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารทันทีด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70 % จึงมั่นใจได้ว่ารถโดยสารขององค์การมีความสะอาด ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) นอกจากนี้ องค์การได้พักการใช้งานรถโดยสารธรรมดา สาย 18 จำนวน 8 คัน ที่พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ รถโดยสาร หมายเลข 7 – 50190, 7 – 50163, 7 – 50180, 7 – 50195, 7 – 50507, 7 – 50355, 7 – 50263 และ 7 – 50375 เป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อทำการฉีดพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในรถ รวมถึง อู่จอดรถและท่าปล่อยรถโดยสาร

 

4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีการตรวจสอบ พบว่าพนักงานขับรถโดยสาร จำนวน 7 คน ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารคันเดียวกับพนักงานผู้ติดเชื้อฯ โดย 1 ใน 7 ของพนักงานขับรถโดยสารดังกล่าว คือ พนักงานขับรถโดยสาร เพศชาย อายุ 50 ปี ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อฯ ตามที่องค์การได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ส่วนพนักงานที่เหลืออีก 6 คน อยู่ระหว่างเข้ารับการตรวจหาเชื้อฯ หากได้ผลเป็นประการใด จะแจ้งให้ทราบต่อไป

 

ทั้งนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) อย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร การล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์  การฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารด้วยแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังนำรถออกวิ่งให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเดินทาง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง