รีเซต

"วันไหว้ครู" เดือนมิถุนายน เปิดความสำคัญและดอกไม้ที่ใช้ในพิธีไหว้ครู

"วันไหว้ครู" เดือนมิถุนายน เปิดความสำคัญและดอกไม้ที่ใช้ในพิธีไหว้ครู
TNN ช่อง16
7 มิถุนายน 2566 ( 09:08 )
164

วันไหว้ครู เดือนมิถุนายนของทุกปี จะเป็นเดือนที่ลูกศิษย์ นักเรียน นักศึกษา จะได้มีโอกาสเข้าไปแสดงความเคารพรักและระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์


วันไหว้ครู 2566 ปีนี้ตรงกับวันไหน ตามธรรมเนียมปฎิบัติ มักจะจัดพิธีไหว้ครู ในวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมิถุนายน หลังจากเปิดภาคเรียน ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะกำหนดโดยปีนี้วันไหว้ครู ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566


ความสำคัญพิธีไหว้ครู

คือ การที่ศิษย์แสดงความเคารพ ยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจว่า ท่านเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตัวรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เพื่อให้บรรลุปลายทางแห่งการศึกษาตามที่ตั้งใจเอาไว้ 

ซึ่งการไหว้ครูนี้ นอกจากจะเป็นธรรมเนียมอันดีงามที่มีส่วนโน้มน้าวจิตใจคนให้รักษาคุณความดี และช่วยธำรงรักษาวิทยาการให้สืบเนื่องต่อไปแล้ว การที่ศิษย์แสดงความเคารพยอมรับนับถือครูตั้งแต่เบื้องต้น ก็มีส่วนทำให้ครูเกิดความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ อยากมอบวิชาความรู้ให้อย่างเต็มที่ และศิษย์เองก็จะมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด เกิดมั่นใจว่าตนจะมีผู้คุ้มครองดูแล สั่งสอนให้ไปสู่หนทางแห่งความดีงาม และความเจริญก้าวหน้าแน่นอน


พิธีไหว้ครูในโรงเรียน และดอกไม้ไหว้ครู


โดยปกติสถานศึกษามักจัดพิธีไหว้ครูขึ้นในวันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 2 หรือวันใดวันหนึ่งในราวเดือนมิถุนายนดอกไม้ที่ใช้ในการไหว้ครู 

พิธีไหว้ครูนับตั้งแต่สมัยก่อน จะใช้ดอกไม้ในการทำพาน ซึ่งดอกไม้ความหมายในการระลึกคุณครู ได้แก่

หญ้าแพรก สื่อถึง เป็นหญ้าที่เติบโตเร็วและทนต่อสภาพดินฟ้า อากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ซึ่งเปรียบเสมือน คำดุด่าของครูบาอาจารย์ เมื่อได้รับการสั่งสอนก็พร้อมจะเรียนรู้ เหมือนดังหญ้าแพรกที่แม้บางครั้งจะเหี่ยวเฉาไป แต่เมื่อใดที่ได้รับน้ำก็พร้อมจะเติบโตทันที

ดอกเข็ม สื่อถึง สติปัญญาเฉียบแหลม เหมือนชื่อของดอกเข็ม

ดอกมะเขือ สื่อถึง มะเขือนั้นจะคว่ำดอกลงเสมอเมื่อจะออกลูก แสดงถึงนักเรียนที่จะเรียนให้ได้ผลดีนั้นต้องรู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เหมือนมะเขือที่โน้มลง และดอกงอกงามได้อย่างรวดเร็ว

ข้าวตอก สื่อถึง ความรู้ที่แตกฉาน เพิ่มพูนอย่างรวดเร็ว เหมือนลักษณะของข้าวสาร เปรียบได้กับการที่ครู “คั่ว” นักเรียนคนใดคนหนึ่ง กล่าวคือ “คั่ว”คือการเคี่ยวเข็ญ ว่ากล่าวตักเตือน อบรมสั่งสอนนั่นเอง วิชาความรู้ของนักเรียนเหล่านั้นจะ “แตก”ฉานสามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้



ข้อมูลจาก โรงเรียนศรีสุวิช

ภาพจาก TNN ONLINE (แฟ้มภาพ)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง