รีเซต

ประเดิมปี 64 เงินเฟ้อ ม.ค. ลบ 0.34% ผลราคาน้ำมัน-ค่าไฟ-ข้าวสารลดลง ทั้งปีมีโอกาสบวก 1.2%

ประเดิมปี 64 เงินเฟ้อ ม.ค. ลบ 0.34% ผลราคาน้ำมัน-ค่าไฟ-ข้าวสารลดลง ทั้งปีมีโอกาสบวก 1.2%
มติชน
5 กุมภาพันธ์ 2564 ( 11:53 )
24
ประเดิมปี 64 เงินเฟ้อ ม.ค. ลบ 0.34% ผลราคาน้ำมัน-ค่าไฟ-ข้าวสารลดลง ทั้งปีมีโอกาสบวก 1.2%

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) เปิดเผยว่าเดือนมกราคม 2564 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้ปรับปีฐานของดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) และดัชนีราคาผู้ผลิต ตามปกติปรับทุก 4-5 ปี

โดยดัชนีราคาผู้บริโภค ปรับเป็นปีฐาน 2562 ซึ่งเป็นปีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนทั่วประเทศ และยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และดัชนีราคาผู้ผลิต ปรับเป็นปีฐาน 2558

 

ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2564 เทียบกับมกราคม 2563 ลดลงร้อยละ 0.34 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 0.27 เทียบธันวาคม 2563โดยมีปัจจัยจากราคาพลังงานต่ำกว่าปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.82 การปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ลงอีกเป็น -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ราคาข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียวยังลดลงต่อเนื่องตามปริมาณผลผลิตสู่ปกติและไม่ได้รับผลกระทบ จากภัยแล้งเหมือนปีก่อน ประกอบกับความต้องการของตลาดต่างประเทศยังทรงตัว สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวตามกลไกการตลาดของผู้ประกอบการ

ขณะที่ราคาสินค้าในบางกลุ่ม โดยเฉพาะ ผักสด และเครื่องประกอบอาหาร ยังปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเกิดอุทกภัยในภาคใต้ และน้ำมันพืชปรับตัวตามราคาผลปาล์มสดที่สูงขึ้นตามความต้องการใช้ในประเทศ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออ หรือ เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.21 ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องของโลก และการระบาดระลอกใหม่ในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง ส่งผลต่อการใช้จ่ายและการผลิตในเดือนมกราคม

 

อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้วัดสำคัญหลายตัวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการส่งออก อัตราการว่างงาน และรายได้เกษตรกร ประกอบกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพ และความสามารถในการบริหารจัดการของบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐหลายหน่วย รวมทั้งแนวโน้มการรักษาด้วยวัคซีน เริ่มเห็นผลในหลายประเทศ ทำให้สถานการณ์ในช่วงต่อไปมีโอกาสปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้จ่ายและเงินเฟ้อให้กลับสู่ภาวะปกติได้ในไม่ช้า

ทั้งนี้ เดือนมกราคม สินค้าหลักในการคำนวณเงินเฟ้อ 430 รายการ นั้น ราคาเพิ่มขึ้น 229 รายการ ลดลง 129 รายการ ไม่เปลี่ยนแปลง 72 รายการ

 

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมกราคม 2564 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.2 จากระดับ 46.3 ในเดือนธันวาคม ปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 39.3 มาอยู่ที่ระดับ 36.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับตัวลดลงจากระดับ 50.9 มาอยู่ที่ระดับ 47.7

สาเหตุมาจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ และมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่ารอบแรก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศยังคงดำเนินการได้ เพียงแต่ต้องปฎิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อ และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วน อาจจะส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะต่อไป

 

นางพิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ยังคงได้รับอิทธิพลจากฐานราคาพลังงานในปีก่อนที่ยังสูงกว่าปีนี้ ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม โดยการลดค่าใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ขณะที่สินค้าอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ ยังมีแนวโน้มหดตัว “กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่างร้อยละ 0.7 – 1.7 ค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 1.2 บนสมมุติฐานจีดีพีไทยขยายตัว 3.5-4.5% นำมันดูไบ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเงิน 30-32 บาทต่อเหรียฐสหรัฐ “นางพิมพ์ชนก กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง