รีเซต

'กุลิศ' จับ 3 การไฟฟ้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพลังงานไฟฟ้าไทย เลิกลงทุนซ้ำซ้อน

'กุลิศ' จับ 3 การไฟฟ้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพลังงานไฟฟ้าไทย เลิกลงทุนซ้ำซ้อน
มติชน
14 มีนาคม 2565 ( 22:03 )
56
'กุลิศ' จับ 3 การไฟฟ้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพลังงานไฟฟ้าไทย เลิกลงทุนซ้ำซ้อน

เมื่อเร็วๆนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานการประชุม “การบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า” ระหว่างคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง (MEA) คณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีพลอากาศเอกชาญฤทธิ์ พลิกานนท์ กรรมการ MEA นายยอดพจน์ วงศ์รักมิตร กรรมการ PEA พร้อมด้วยคณะกรรมการของ 3 การไฟฟ้าร่วมประชุม เพื่อให้ทั้ง 3 การไฟฟ้า ซึ่งทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศมีการบูรณาการการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนและเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เป็นภาระต้นทุนส่วนเกินต่อประชาชน ณ ห้องประชุมวิภาวดีบอลรูม B โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร

 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานกรรมการ กฟผ. กล่าวว่า ประเทศไทยได้เดินหน้าเปลี่ยนผ่านพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ยุค Renewable Energy (RE) หรือ ยุคพลังงานสีเขียว (Green Energy) ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานด้านพลังงานไฟฟ้าทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงาน 3 การไฟฟ้า กฟผ. MEA และ PEA ได้ร่วมกันดำเนินงานเพื่อบูรณาการและวางแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ 3 การไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศด้านไฟฟ้า ภายใต้การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารกิจการไฟฟ้า โดยเฉพาะแผนการพัฒนาระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น และรองรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การติดตั้ง Solar Rooftop ในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการนำระบบสมาร์ทกริดเข้ามาใช้งานในอนาคต

 

“การบูรณาการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของ 3 การไฟฟ้า คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นการบูรณาการการลงทุนร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทยอย่างมีเอกภาพ ทำให้การลงทุนเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เกิดความซ้ำซ้อนในทุกมิติ เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงและรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Green Energy ในอนาคตอย่างยั่งยืน และสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย”นายกุลิศกล่าว

 

สำหรับการประชุม ได้นำเสนอแนวทางบูรณาการการลงทุนภายใต้แผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย รูปแบบและการดำเนินการด้าน Grid Modernization การบูรณาการข้อมูลด้านพลังงาน โดยการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (National Energy Information Center : NEIC) ของกระทรวงพลังงาน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกัน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งยังได้เสนอให้มีการดำเนินธุรกิจร่วมกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาในภาพรวม เช่น การร่วมมือในการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า EV Charging Station ของ 3 การไฟฟ้าให้เป็นแพลทฟอร์มเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และการร่วมทุนจัดตั้งบริษัทกำจัดซากแบตเตอรี่ นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอแผนเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินในระบบไฟฟ้าในสถานการณ์วิกฤติพลังงานอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง